หากจะมีหนังสือกาลานุกรมสยามประเทศไทยเล่มต่อไป ตัวเลขปี 2020 คงต้องทำเป็นแบบตัวหนา และตัวใหญ่เป็นพิเศษในฐานะเป็นปีที่สังคมไทยต้องรับมือกับเหตุการณ์ระดับเมกกะ (Mega) ตั้งแต่ต้นปี จนถึงกลางปี และอาจต่อไปอีกนานยาว นับว่าเป็นปีที่สังคมไทยรับแรงสั่นสะเทือนรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
ในเรื่องผลกระทบของโควิด-19 แม้การสาธารณสุขไทยรวมทั้งทุกภาคส่วนจะช่วยกันแก้ไขและป้องกันจนการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศเป็นศูนย์มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม เป็นต้นมา แต่รอยฟกช้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดจากแรงกระแทกในครั้งแรกกำลังแสดงอาการช้ำในที่ชัดเจนขึ้นและดูท่าทางจะเป็นอาการเรื้อรังต่อเนื่องนานยาว เมื่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเปิดตัวเลขสภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ที่หดตัวอย่างน้อย 12.2% รวมทั้งตัวเลขการคาดการณ์เศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ที่บอกได้เพียงแค่ว่าการทำมาหากินของสังคมไทย โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อยยังจะต้องอดทนมากขึ้น อาจต้องเผชิญสภาวะ “ดำน้ำทน” และบริหารออกซิเจนให้อยู่รอดถึงฝั่งที่แม้จะยังมองไม่เห็นตอนนี้ให้ได้
ความโควิด-19 ยังไม่ทันหาย ความเรื่องใหม่ของสังคมไทยก็ปะทุขึ้นหลังจากที่คุกรุ่นมาช่วงหนึ่ง ที่ต้องบอกว่าเป็นเรื่องใหม่นั้น เป็นเรื่องใหม่จริงๆ คือการแสดงออกและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเด็กๆ แม้สังคมไทยในอดีตจะได้เคยเห็นพลังของหนุ่มสาวในทางการเมืองมาแล้วหลายครั้ง แต่ครั้งนี่เป็นครั้งแรกที่เด็กทั้งมัธยมต้นและมัธยมปลายรวมตัวกันแสดงความคิดเห็นและจุดยืนทางการเมืองอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และดูจะเอาจริงเอาจังอย่างน่าจับตามอง
นับว่าความขัดแย้งทางการเมืองกลับเข้ามาในเรือนชานอีกครั้งหลังจากเหตุการณ์เสื้อเหลือเสื้อแดงเมื่อ 15 ปีก่อน คราวนั้นถึงกับพากันบอกว่าอย่าได้ถกการเมืองกันในบ้านเลยทีเดียว เพราะถ้าคนในบ้านเชียร์สีต่างกันแล้ว ถึงขั้นทะเลาะเบาะแว้งกันรุนแรง ในครั้งนี้อีกเช่นกันที่พ่อแม่หลายคนแสดงความกังวลเมื่อการเมืองเข้ามาถึงลูกๆ โดยเฉพาะระดับมัธยมต้น และมัธยมปลายที่พ่อแม่อาจรู้สึกว่าเร็วเกินไปหรือไม่ หรือสงสัยว่าลูกจะเข้าใจเรื่องราว เล่ห์สนกลใน เบื้องลึกเบื้องหลังของการเมืองถ่องแท้หรือไม่ “เผด็จการ” ที่ลูกๆ ต่อต้าน เขาหมายถึงรัฐบาล หรือครูที่โรงเรียน หรือพ่อแม่ที่บ้าน หรืออะไรก็ตามที่ขัดขวางการแสดงความคิดเห็นและความเป็นตัวของตัวเอง สิ่งที่น่าสนใจคือ มีพ่อแม่ ผู้ใหญ่ และผู้ปกครองจำนวนไม่น้อย ที่ไม่กล้าจะแสดงการคัดค้าน ไม่เห็นด้วย หรือแม้แต่จะพยายามช่วยในการจาระไนความคิดให้กับลูก เพราะกลัวลูกจะรู้สึกว่าเป็นคนละพวกที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกัน และกลัวว่าหากขัดแย้งกันรุนแรงมากขึ้น จากนี้ไปลูกจะไม่เปิดใจหรือไว้วางใจที่จะเล่าอะไรให้ฟังอีก จนเกิดเป็นหลุมหล่มในครอบครัว เพราะทุกวันนี้ลูกๆ ก็มี “แอคหลุม” (คือแอคเค้าท์ทวิตเตอร์ที่ไม่ระบุตัวตนที่แท้จริง สร้างขึ้นเพื่อแสดงคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่ต้องการให้ใครรู้ว่าตนเองคือใคร) ไว้หลบพ่อแม่ไม่ให้รู้ว่าตนเองมีความคิดเห็นอย่างไร
ครั้งนี้จึงเป็นอีกครั้งที่ครอบครัวไทยเผชิญความเปราะบางในหลายมิติพร้อมกันและสมาชิกในบ้านอาจหุนหันพลันแล่นเข้าหากัน ทุกคนในสังคมจึงควรตั้งสติให้ดี ไม่ให้ความคิดเห็นที่แตกต่างกลายเป็นความพยายามที่จะให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูก และอีกฝ่ายต้องผิดไป ซึ่งในที่สุดจะไม่มีใครยอมรับว่าตนเองเป็นฝ่ายผิด ในบางเรื่องบางครั้งอาจผิดทั้งคู่ หรืออาจถูกทั้งคู่ก็ได้ และในบางบริบทการจะผิดหรือถูกอาจไม่ใช่สาระด้วยซ้ำไป เช่นบริบทภายในบ้านที่มีความรักความผูกพันเป็นพื้นฐานอันแข็งแรงของสังคมไทย
แม้จะเกิดการ “ชังชาติ” หรือ “ชังโลก” บ้าง แต่ที่สุดก็ขออย่าให้เกิดการ “ชังบ้าน” เลย