บทความสั้น
เสน่ห์บ้านนอกในช่วงโควิด-19
Home / บทความสั้น

ภูเบศร์ สมุทรจักร คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
เรื่องพิเศษ | กันยายน 2563

ในการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลวิจัยเกี่ยวกับการปรับตัวของประชาชนในวิกฤตการณ์โควิด-19[1]  ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนที่ผ่านมา ได้มีโอกาสพูดคุยกับคนหาเช้ากินค่ำตลอดจนคนทำงานกินเงินเดือนเล็ก ๆ น้อย ๆ ในหลายพื้นที่ที่ประสบชะตากรรมร่วมกันจากการจู่โจมของเจ้าไวรัสร้ายตัวนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่หลายคนบอกว่า “ความฝันและชีวิตแทบพังทลาย” ได้พบความจริงที่น่ารักหลายอย่างของสังคมไทยที่หากไม่เกิดเหตุการณ์พลิกผันเช่นนี้ เราอาจมองไม่เห็น 

อย่างแรกสุดคือการหวนคืนบ้านนอกของแรงงานหลายคนที่ทิ้งผืนนาป่าสวนซึ่งเป็นทุนที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายทิ้งไว้ให้ มุ่งสู่เมืองใหญ่ บางคนเข้าไปตั้งแต่ตอนเรียนหนังสือ บางคนเข้าไปเมื่อเรียนจบแล้วเพื่อไปขายแรงงานเพราะได้เงินมากกว่า มั่นคงกว่า สบายกว่า แม้จะต้องแลกกับการพลัดพรากจากพ่อแม่ญาติพี่น้องและผืนดินอันคุ้นเคย มหันตภัยโควิด-19 ที่ซัดโถมโครมใหญ่ได้กวาดเอางานและเงินที่มาจากอุตสาหกรรมยุคใหม่ทั้งหลายหายวับไปในพริบตา ความร้ายของเภทภัยครั้งนี้ไม่ได้เว้นช่องเวลาให้คิดหาทางออกมากนัก การประกาศเคอร์ฟิวและห้ามการเดินทางข้ามจังหวัดในเดือนเมษายนทำให้แรงงานพลัดถิ่นทั้งหลายต้องรีบกลับไปตั้งหลักที่บ้านนอกก่อนที่จะไม่มีโอกาสกลับ อย่างน้อยก็มีข้าวให้กิน มีผักให้เก็บ และที่สำคัญยังมีพ่อแม่ญาติพี่น้องที่คอยต้อนรับอยู่อย่างอบอุ่น สายสัมพันธ์ของครอบครัวไทยเป็นความน่ารักอย่างที่สองที่ทำให้คนยังยิ้มฝ่าวิกฤตโควิด-19 ได้ 

หลายคนบอกว่าพอกลับไปถึงก็เริ่มสำรวจที่ดินที่นาที่พ่อแม่มีเก็บไว้ ผืนใหญ่บ้างเล็กบ้างตามกำลังการออมของแต่ละครอบครัว และหาช่องทางที่จะพลิกฟื้นสมบัติที่มีอยู่แต่ถูกมองข้ามมาโดยตลอดให้เป็นแหล่งทำรายได้ เพราะอย่างไรชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป และยังไม่รู้ว่าวิกฤตโควิด-19 จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ มีแรงงานพลัดถิ่นจำนวนไม่น้อยที่หวนคืนบ้านนาด้วยความรู้สึกว่าอยากใช้ชีวิตเกษตรกรและอยู่กับธรรมชาติมานานแล้ว และน่าจะสามารถเอาความรู้กับประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากในเมือง มาประยุกต์ดัดแปลงให้เป็นเกษตรกรวิถีใหม่ที่ทันสมัยและสร้างมูลค่าเพิ่มได้ เพียงพอที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้ การเอาความรู้จากในเมืองกลับไปพลิกผืนแผ่นดินชนบทให้คึกคักและมีชีวิตชีวาจึงเป็นความน่ารักอย่างที่สาม ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาชนบทโดยภาคประชาชน (People-led rural development) ซึ่งอาจจะมีชีวิตชีวาและความยั่งยืนกว่าที่จะให้ภาครัฐทำโดยลำพัง และเป็นช่องทางในการลดความไม่สมดุลเชิงพื้นที่ในการพัฒนา (Geographically uneven development) ซึ่งเท่าที่ผ่านมาความไม่สมดุลนี้รังแต่จะสร้างความเสียหายให้แก่สังคมไทย และครอบครัวไทย และที่เลวร้ายที่สุดคือการทำให้เกิดการพลัดพรากของสมาชิกในครอบครัว และสร้างความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ในเมืองก็แออัดจนอัดอั้น บ้านนอกก็รกร้างจนเหี่ยวเฉา

ลูกทุ่งคืนถิ่นบางคนเริ่มติดใจกับบรรยากาศบ้านนอก บรรยากาศที่คุ้นเคยวัยเด็ก และตื่นเต้นกับโปรเจคใหม่ ๆ ที่ผุดขึ้นในสมอง แม้จะมั่นใจบ้างไม่มั่นใจบ้างแต่ก็มีรอยยิ้มแบบกึ่งหวั่นใจเวลาพูดว่า “อย่างน้อยก็ได้อยู่พร้อมหน้ากัน”

หนทางชีวิตบ้านนอกคงไม่ได้เขียวขจีสดสวยราบรื่นอย่างกับฉากชนบทโรแมนติกที่เห็นในหนังหรือละครไทยนัก แต่ก็เป็นโอกาสสำคัญอันหนึ่งของสังคมไทยที่หากลูกทุ่งคืนถิ่นเจนเอกซ์ เจนวาย เหล่านี้ได้รับการสนับสนุนและข้อแนะนำที่ดีจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเงินทุน ช่องทางกระจายสินค้า ลูกค้า คู่ค้า รวมทั้งกลไกการปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชนที่จะทำงานร่วมกับลูกทุ่งเลือดใหม่เหล่านี้พัฒนาพื้นที่ชนบทอันอุดมไปด้วยทุนทางเศรษฐกิจ และทุนทางสังคมอย่างยั่งยืน

[1] โครงการวิจัย “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” ดำเนินการโดย มูลนิธิปิดทองหลังพระ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา และสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า


ภาพประกอบโดย  www.freepik.com


Related Topics : โควิด

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333