การระบาดของ COVID-19 ดูเหมือนจะไม่ลดลงได้ง่าย ๆ จนถึงปลายเดือนสิงหาคม 2563 ยอดผู้ติดเชื้อยังสูงถึงราวสองแสนคนต่อวัน หลายประเทศที่เคยประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ในช่วงของการระบาดระลอกแรก กลับประสบปัญหาการระบาดรอบใหม่ภายหลังผ่อนคลายการล็อคดาวน์ ขณะที่การพัฒนาวัคซีนในหลายประเทศ ยังต้องใช้เวลาอีกนานหลายเดือนก่อนที่จะรู้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ หากประสบความสำเร็จ ก็ยังต้องใช้เวลาในการผลิตวัคซีน และกระจายให้ทุกประเทศทั่วโลก อีกนานหลายเดือนเช่นกัน ดังนั้น จึงเป็นไปได้สูงว่า เราอาจต้องอยู่กับการระบาดของ COVID-19 ไปจนถึงปลายปี 2564 ดังนั้น ทุกคนจึงต้องป้องกันและระมัดระวังตนเองอย่างสม่ำเสมอไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่างให้เป็นกิจวัตร นอกจากนี้ เราควรดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายด้านสุขภาพในระดับชาติและระดับท้องถิ่นควบคู่กัน โดยการส่งเสริมภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท รวมถึงการพัฒนาสมุนไพรไทยเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสร้างเสริมสุขภาพที่แข็งแรงของภาคประชาชน
กระบวนการสมัชชาสุขภาพทำให้เกิดเวทีของภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์แผนไทยขึ้น จนนำไปสู่การพัฒนาภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2550 – 2554 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2555-2559 ขึ้น จนเกิดผลเป็นรูปธรรมหลายเรื่อง เช่น โรงพยาบาลแพทย์แผนไทยต้นแบบ การประกาศใช้พระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556 การจัดตั้งกองทุนการแพทย์แผนไทยในระบบหลักประกันสุขภาพ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของรายการยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ เป็นต้น ต่อมาได้มีการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2560-2564 ขึ้น มีเป้าหมายให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้บริการระบบการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ปลอดภัย และใช้อย่างสมเหตุสมผล เป็นฐานในการสร้างเสริมและพึ่งตนเองด้านสุขภาพ และนำไปสู่การจัดทำแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 ขึ้น เพื่อให้สมุนไพรไทยเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปในอนาคต
แผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 ตั้งเป้าว่า ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน ส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจและการใช้สมุนไพรไทยอย่างถูกต้องเหมาะสม ส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้สมุนไพรไทย รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสมุนไพรไทย ผลักดันให้พืชสมุนไพรของไทยเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่ขับเคลื่อนโมเดล Thailand 4.0 นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีโครงการเมืองสมุนไพร (Herbal City) ในเขตพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง (4 ภูมิภาค) คือ เชียงราย ปราจีนบุรี สกลนคร และสุราษฎร์ธานี เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสมุนไพรแบบครบวงจรในระดับจังหวัดตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง และสงเสริมการนําสมุนไพรไปพัฒนาผลิตภัณฑที่มีคุณภาพ ผานวิสาหกิจชุมชนหรือกลุ่มธุรกิจทองถิ่นที่มีศักยภาพ รวมทั้งนําไปใชในการพัฒนายาและผลิตภัณฑสุขภาพในสถานบริการสาธารณสุข รวมถึงส่งเสริมผลิตภัณฑ์ OTOP มีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมการใช้สมุนไพรในระบบบริการ (Therapeutics) ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรในโรงพยาบาล มีศูนย์ผลิตและกระจายยาสมุนไพรของจังหวัด และมีการวิจัยและพัฒนายาสมุนไพรในการรักษาโรคด้วย
ทั้งนี้ ภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไทได้รับการพัฒนาเพื่อให้การแพทย์พื้นบ้านยังดำรงอยู่ได้ เนื่องมาจากความสอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน สถานะทางเศรษฐกิจของชาวบ้าน ควบคู่กับลักษณะทางสังคมที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของหมอพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการเคารพเชื่อฟังผู้อาวุโสของครัวเรือน ข้อจำกัดเรื่องระยะทาง ค่ารักษาพยาบาล รูปแบบของการรักษา และภูมิปัญญาด้านการใช้ยาสมุนไพร ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องต้องคำนึงถึงถึงคุณภาพของการให้บริการ การผลิตและรักษาที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัยและน่าเชื่อถือ เพื่อเป็นทางเลือกในการส่งเสริมด้านสุขภาพของประชาชนอีกทางหนึ่ง
สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2560-2564 สามารถอ่านเรื่อง การพัฒนาภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไทฉบับเต็มได้ในรายงานสุขภาพคนไทย ฉบับปี 2561 ครับ
ภาพประกอบ โดย freepik - www.freepik.com