บทความสั้น
โรคไม่ติดต่อเรื้อรังในคนไทย
Home / บทความสั้น

กัญญา อภิพรชัยสกุล คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
ตัวชี้วัดสุขภาพ | พฤศจิกายน 2563

สถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (non-communicable diseases: NCDs)[1] ในกลุ่มประชากรไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นตามอายุที่สูงขึ้น โรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือโรค NCDs คือโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ หรือเกิดจากการติดต่อจากคนสู่คน โดยทั่วไปคนเรามักจะคิดว่าโรคเรื้อรังจะพบในประชากรวัยที่เข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุไปแล้วเท่านั้น โดยเมื่ออายุมากขึ้นมักจะมีแนวโน้มการเป็นโรคเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้น แต่ปัจจุบันพบว่าโรคเรื้อรังเกิดในกลุ่มคนวัยทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ภาคเหนือ จากผลสำรวจอนามัยและสวัสดิการ ปี 2562 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าคนภาคเหนือที่อยู่ในวัยทำงานมีโรคเรื้อรังประจำตัวสูงกว่าภาคอื่น ๆ

หมายเหตุ: โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (non-communicable diseases: NCDs) เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน   โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง เป็นต้น

ที่มา: การสำรวจอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ. 2562, สำนักงานสถิติแห่งชาติ

สำหรับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นโรคที่บอกอยู่แล้วว่าเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้นโรคนี้สามารถป้องกันได้ง่ายมาก เพียงหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน โดยการหันมาดูแลสุขภาพด้วยหลัก 5 อ.[2] เพื่อการมีสุขภาพที่แข็งแรง อ. ที่หนึ่ง คือ อาหาร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกเพราะอาหารที่กินเข้าไปส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง ควรกินด้วยความระมัดระวัง ควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม อ. ที่สอง คือ อารมณ์ การดูแลด้านจิตใจก็เป็นสิ่งสำคัญ การไม่เครียด มองโลกในแง่บวก จะส่งผลให้จิตใจสดใสร่าเริง อ. ที่สาม คือ ออกกำลังกาย การออกกำลังกายเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ระบบต่าง ๆ ของร่างกายจะแข็งแรงตามไปด้วย  อ. ที่สี่ คือ อนามัย การสร้างอนามัยที่ดี โดยหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี จะทำให้เรารู้สุขภาพของเราไว้ก่อนหากเกิดโรคอะไรขึ้นจะได้แก้ไขได้ทันท่วงที อ. ที่ห้า คือ อดิเรก โดยการหางานอดิเรกทำ เช่น ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ เป็นต้น ซึ่งงานอดิเรกนั้นจะช่วยให้เพลิดเพลิน และเกิดคุณค่าทางด้านจิตใจอีกด้วย

ในปี 2564 ประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งถ้าหากประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์และสุขภาพแข็งแรงด้วย จะทำให้ลดภาระในเรื่องของการดูแลผู้สูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรังออกไปหรือหากจะเป็นก็จะช่วยให้ยืดอายุหรือระยะเวลาในการเป็นโรคเรื้อรังออกไปให้นานที่สุด เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องของการดูแลรักษาทั้งในระดับประเทศและในระดับครอบครัวได้อีกด้วย

เชิญติดตามข้อมูลตัวชี้วัดสุขภาพพื้นที่ ที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ในรายงานสุขภาพคนไทย 2564 ซึ่งจะออกเร็วๆ นี้

อ้างอิง

[1] โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (โรค NCDs) สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2563 จาก https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1371

[2] สูงวัยแข็งแรงด้วยหลัก 5 อ. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2563 จาก https://www.lovefitt.com/healthy-fact/สูงวัยแข็งแรงด้วยหลัก 5-อ./


ภาพประกอบโดย  www.freepik.com


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333