การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคธุรกิจและการค้า ทำให้มีคนตกงานกว่า 2.5 ล้านคน[1] แรงงานส่วนใหญ่จึงย้ายกลับภูมิลำเนา ขณะที่ชุมชนยังมีความอ่อนแอหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชุมชนที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรจากภายนอก หรือชุมชนที่อยู่ด้วยรายได้จากการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานรากและการพึ่งตนเอง จึงปรากฏว่าบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ร้านอาหาร ต้องปิดตัวลงจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ในชุมชนชนบท ที่ยังมีความมั่นคงทางอาหาร สามารถผลิตอาหารเองได้บ้าง จะมีความเดือดร้อนน้อยกว่าเพราะสามารถพึ่งตนเองได้มากกว่า แต่ความท้าทายของชุมชนก็มีปัจจัยอื่นๆร่วมด้วย อาทิ ปัจจัยสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศ เช่น ภัยแล้ง หรือการที่พื้นที่ของชุมชนไม่เหมาะกับการเพาะปลูกเพราะเป็นภูเขาสูง ชุมชนอยู่ในเขตป่าสงวน เป็นต้น
เมื่อต้องเผชิญปัญหาโควิด ทำให้ชุมชนเผชิญกับความท้าทายและต้องปรับตัวหลายด้าน กฤษฎา บุญชัย[2] ใช้กระบวนการสนทนากลุ่มกับนักพัฒนาเอกชนที่ทำงานใกล้ชิดกับชุมชนในทุกภูมิภาค ได้ข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับการปรับตัวเพื่อให้ชุมชนอยู่รอดจากสถานการณ์โควิด ตัวอย่างชุมชนในเชียงใหม่ที่พึ่งพารายได้จากท่องเที่ยวและการเกษตร ทำให้ในช่วงโควิดเศรษฐกิจของชุมชนแย่ลง โดยทำให้โรงแรม ร้านอาหาร สถานบริการต่างๆ ปิดตัวลง ตัวชี้วัดเศรษฐกิจอยู่ที่ตลาดในเมืองและท้องถิ่นที่เผชิญภาวะซบเซา จึงพิสูจน์ได้ว่าเศรษฐกิจของชุมชนที่พึ่งพาตลาดเพียงอย่างเดียวอยู่ไม่รอดในช่วงโควิด ปัญหาผลผลิตลำไยที่จะต้องส่งออกในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี แต่เมื่อเจอโควิด ทำให้ไม่มีตลาดรองรับ และที่ผ่านมาเกษตรกรต้องเผชิญปัญหาราคาลำไยตกต่ำมาตลอด แม้ว่าข้าว และมันสำปะหลัง จะมีราคาสูงขึ้น แต่ชาวบ้านก็ต้องรับกับสภาพฝนแล้งและขาดแคลนน้ำจนไม่สามารถเพาะปลูกได้ ส่วนโอกาสของธุรกิจออนไลน์ ก็ไม่ได้เปิดประตูรับผู้ค้าขายทุกคน โดยเฉพาะเกษตรกรหรือชุมชนที่ไม่มีทุนสำรองเพียงพอ
ขยับลงมาที่จังหวัดนครสวรรค์กลับพบว่า ในสถานการณ์โควิด ทำให้เกิดโอกาสและอนาคตของเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ซึ่งมีการบริหารจัดการที่ดี เช่น ระบบธนาคารน้ำ ระบบการผลิตที่ไม่ใช้สารเคมี มีมาตรฐานของชุมชนรองรับ และเป็นระบบการผลิตเพื่อบริโภคควบคู่ไปกับการค้า กลุ่มเกษตรกรในชุมชนเหล่านี้ ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่มากนัก และมีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชน นอกจากนี้ เกษตรกรบางกลุ่มเริ่มลดพื้นที่การปลูกอ้อยลง จึงเป็นโอกาสของการหันมาทำเกษตรเพื่อความอยู่รอด และยังช่วยลดฝุ่นควันจากการเผาไร่อ้อยเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามเกษตรกรกลุ่มนี้ยังเป็นกลุ่มขนาดเล็ก และไม่ได้มีทุกชุมชน แต่ชุมชนส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาเกษตรเชิงเดี่ยวและสารเคมี เพื่อตอบสนองตลาดขนาดใหญ่ ดังนั้น ถือเป็นเรื่องยากที่ชุมชนจะสามารถปรับตัวและอยู่รอดได้หากวิกฤตโควิดยังคงดำเนินต่อไป
ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ ในรายงานสุขภาพคนไทย 2564 ซึ่งจะออกเร็ว ๆ นี้
[1] https://www.naewna.com/business/columnist/45318
[2] https://thaipublica.org/2020/04/kritsada-boonchai-14/
ภาพประกอบ www.freepik.com