บทความสั้น
ท่อส่งก๊าซธรรมชาติระเบิดในประเทศไทย ปี 2563
Home / บทความสั้น

กาญจนา เทียนลาย คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | พฤศจิกายน 2563

ในช่วงเที่ยงของวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ได้เกิดเหตุการณ์ระเบิดของท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่บ้านเปร็ง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้รุนแรง มองเห็นได้จากระยะไกลหลายกิโลเมตร เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความเสียหายกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนรวมถึงอาคารสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ โรงเรียน อาคารสถานที่ บ้านเรือนประชาชน รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เป็นจำนวนมาก นอกจากสร้างความเสียหายกับทรัพย์สินแล้ว ยังทำให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 60 คน และผู้เสียชีวิตอีกจำนวน 3 ศพ เมื่อเกิดเหตุระเบิดขึ้น ชาวบ้านละแวกนั้นต่างพากันวิ่งหนีกันจ้าละหวั่น รวมทั้งนักเรียนในโรงเรียนเปร็งสุทธาธิบดี ซึ่งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุราว 400 เมตร ต่างพากันวิ่งหนีตาย ในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่เด็กอนุบาลกำลังนอนพักกลางวัน คุณครูต่างรีบปลุกเด็ก ๆ และพากันวิ่งหนีออกมาจากโรงเรียน เหตุการณ์ดังกล่าวทำสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ของโรงเรียนหลายจุดเป็นเหตุให้เด็ก ๆ จำต้องหยุดเรียนยาวประมาณกว่า 1 เดือนเลยทีเดียว

​“นับเป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่ร้ายแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต หลังจากที่ประเทศไทยมีการใช้ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติมานานเกือบ 40 ปี และยังไม่เคยมีอุบัติเหตุร้ายแรงเช่นนี้" [1]

​ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีความยาวประมาณ 4,252 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกความยาวประมาณ 2,119 กิโลเมตร ระบบท่อส่งก๊าซฯ ดังกล่าว อยู่ลึกลงไปชั้นใต้ดินลึก 5 เมตร และเป็นเหล็กกล้าที่มีความหนา 0.594 นิ้ว [2] เหตุการณ์ดังกล่าว นำมาซึ่งคำถามถึงความปลอดภัยของการอยู่ร่วมกับท่อส่งก๊าซธรรมชาติในบ้านเรา ถึงการดูแลบำรุงรักษา และจำนวนท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น

​สาเหตุที่เกิดขึ้นเบื้องต้น มีความเป็นไปได้ 6 แนวทาง อยู่ระหว่างการจัดทำรานงานวิเคราะห์ถึงสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ คือ

  1. การผุกร่อนของท่อส่งก๊าซธรรมชาติ

  2. ความเสียหายของคุณสมบัติทางกลของท่อจากโรงงานผลิตหรือการก่อสร้าง

  3. ความผิดปกติของระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงเหนือท่อ

  4. ความผิดปกติของอุปกรณ์ตรวจวัดหรือควบคุมระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ

  5. การเกิดการสไลด์หรือการทรุดตัวของดิน ทำให้ท่อเกิดความเสียหายฉับพลัน

  6. การรุกล้ำแนวเขตระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อโดยบุคคลที่ 3

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทาง ปตท. จะเข้ามาดูแลรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดอย่างรวดเร็ว แต่ก็ไม่วายทำให้ประชาชนที่อยู่ใกล้กับแนวท่องส่งก๊าซธรรมชาติยังคงมีความรู้สึกกังวลอยู่ดี ทั้งยังหวาดผวาว่าจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำขึ้นอีก ผู้กำหนดนโยบายและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนอาจต้องดำเนินการแก้ไขและจะต้องสร้างความเชื่อมั่นในการดูแลท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้ได้มาตรฐานในระยะยาวด้วย 

ที่มา

[1] ถอดบทเรียนโศกนาฏกรรม “ท่อก๊าซธรรมชาติระเบิด” เราจะรับมือกันอย่างไร?. 22 ต.ค. 2563. ค้นเมื่อ 15 พ.ย. 2563, จาก https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000108375

​[2] https://www.tcijthai.com/news/2020/10/watch/11105


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333