“เด็กปฐมวัย” เป็นวัยที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก หรือจะเรียกว่าเป็นวัยทองสำหรับเด็กก็ว่าได้ เนื่องจากเป็นวัยที่สำคัญสำหรับพัฒนาการทางร่างกาย สังคม อารมณ์ รวมทั้งสติปัญญา เด็กปฐมวัย ความหมายที่ใช้กันเป็นส่วนใหญ่จะครอบคลุมเด็กทารกแรกเกิดไปจนถึงอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ แต่บางเรื่อง เช่น การส่งเสริมสุขภาวะและพัฒนาเด็กปฐมวัยการนำเสนอข้อมูลอาจครอบคลุมกว้างตั้งแต่ช่วงทารกในครรภ์มารดาไปจนถึงอายุครบ 8 ปีบริบูรณ์ [1] การพัฒนาสำหรับเด็กปฐมวัยหากได้รับการกระตุ้น ส่งเสริมการเข้าถึงหนังสือ สื่อการเรียนรู้ การดูแลเอาใจใส่ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี จะนำไปสู่พัฒนาการที่ดีและเป็นรากฐานของชีวิตที่ดีต่อไป
สำหรับเด็กปฐมวัยการเล่นเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเด็กวัยนี้ เพราะการเล่นคือกระบวนการสร้างการเรียนรู้ แต่การเลือกของเล่นให้กับเด็กปฐมวัยหากผู้ปกครองเลือกให้เหมาะสมจะเกิดผลดีต่อพัฒนาการของเด็ก การเล่นที่หลากหลายช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางสมอง จนเกิดคำว่า “เล่นเปลี่ยนโลก” กระบวนการเล่นจะช่วยสร้างกระบวนการเรียนรู้ทางสมองของเด็กปฐมวัย [2] รวมถึงการสร้างทักษะที่ส่งผลกับชีวิตในระยะยาว นั่นคือ ทักษะในการกำกับความคิด อารมย์ การกระทำ ช่วยให้เด็กสามารถบริหารจัดการชีวิตได้อย่างเหมาะสม หรือที่เรียกว่า Executive Functions หรือ EF ซึ่งทักษะ EF สามารถสร้างได้ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ และถ้าหากสร้างได้ตั้งแต่ปฐมวัย จะช่วยเด็กเจริญเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
สำหรับเด็กไทย หากพิจารณาถึงของเล่นและสื่อการเรียนรู้พบว่า เด็กมีของเล่นจากร้านค้าสูงถึง ร้อยละ 90 ส่วนของเล่นที่ทำขึ้นเองภายในบ้าน ร้อยละ 56 ขณะที่สื่อสำหรับส่งเสริมการเรียนรู้ เช่น หนังสือสำหรับเด็กอย่างน้อย 3 เล่ม พบว่ามีเพียงร้อยละ 34 เท่านั้น จากข้อมูลนี้ทำให้เราทราบถึงค่านิยมที่พ่อแม่ผู้ปกครองนิยมซื้อของเล่นให้ลูกมากกว่าที่จะทำขึ้นเองภายในบ้าน
ที่มา: รายงานการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2562, สำนักงานสถิติแห่งชาติ
ปัจจุบันเด็กไทยกว่าครึ่งหนึ่งที่พัฒนาการทางสติปัญญาสงสัยว่าล่าช้า [3] ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนไทยจะหันมาส่งเสริมให้ลูกหลานออกมาเล่นหรือทำกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก แทนการหยิบยื่นโทรศัพท์มือถือ หรือ แท็บเล็ต ให้กับลูกหลาน
การส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยควรเน้นที่ครอบครัวเป็นแกนหลัก แต่ทุกภาคส่วนควรช่วยกันส่งเสริมและมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างองค์ความรู้ สร้างความเข้าใจให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองเพื่อให้เกิดความตระหนักในการส่งเสริมพัฒนาการของลูกหลานในครอบครัว
[1] https://www.who.int/maternal_child_adolescent/topics/child/development/en/
[2] http://203.157.71.163/kpi/uploads/20200205150243-ร่างคู่มือเล่นเปลี่ยนโลก%20%20ล่าสุด.pdf
[3] https://www.thaihealthreport.com/index2561-05
ภาพประกอบโดย www.freepik.com