หนึ่งในสาเหตุการตายหลักของคนไทยที่อยู่ใน 5 ลำดับแรก คือการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ในทุก ๆ วัน คนไทยหลายสิบล้านคนต้องเสี่ยงภัยกับภัยร้ายใกล้ตัวนี้ นับตั้งแต่ก้าวออกจากประตูบ้านของตนเอง องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า การบาดเจ็บและสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา จากฐานข้อมูลปี 2556 พบว่า อัตราผู้เสียชีวิตบนท้องถนนทั่วโลกสูงถึง 1.25 ล้านคนต่อปี ทั้งนี้ การบาดเจ็บและสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 36.2 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน หรือเฉลี่ยปีละ 24,326 คน ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตสูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของเอเชีย
สำหรับผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนของไทย พบว่า ส่วนใหญ่เกิดจากรถจักรยานยนต์มากที่สุด (ร้อยละ 74.4) เทียบกับผู้เสียชีวิตจากรถยนต์ที่ร้อยละ 12.7 ผู้เดินเท้าร้อยละ 7.6 ผู้ขี่จักรยาน ร้อยละ 3.5 และผู้ใช้ถนนอื่น ๆ ร้อยละ 2.3 (รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์อุบัติเหตทางถนนของกระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2561)
ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน (Thai RSC) รายงานว่า ในปี 2562 มีรายงานอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศจำนวน 865,038 ครั้ง โดยมีผู้เสียชีวิต 7,824 คน บาดเจ็บ 854,593 คน และทุพพลภาพ 2,621 คน เทียบกับอุบัติเหตุในปี 2561 จำนวน 829,201 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 7,849 คน บาดเจ็บ 818,803 คน และทุพพลภาพ 2,549 คน ซึ่งไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ในปี 2562 มีจำนวนครั้งของอุบัติเหตุสูงขึ้น ส่วนในปี 2563 Thai RSC ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศจนถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2563 พบว่ามีอุบัติเหตุจำนวน 753,823 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 6,946 คน บาดเจ็บ 744,568 คน และทุพพลภาพ 2,309 คน โดยช่วงเดือนมีนาคม-กรกฎาคม 2563 มีจำนวนอุบัติเหตุและผู้บาดเจ็บลดลงอย่างมาก เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องมาจากผู้คนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงการเดินทางและอยู่กับบ้าน อันเป็นผลมาจากการระบาดของโรค COVID-19 โดยการเลื่อนเทศกาลวันหยุดสงกรานต์ออกไป ทำให้อุบัติเหตุทางท้องถนนลดลงอย่างมากในช่วงดังกล่าว
ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม ได้วิเคราะห์สาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางท้องถนนในประเทศไทย ดังนี้ 1) อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการชน ซึ่งรถจักรยานยนต์มีความเสี่ยงในการบาดเจ็บสูงมากกว่ารถยนต์ 2) อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากบุคคล เช่น การขับรถเร็ว ขับรถตัดหน้า ไม่เคารพกฎจราจร 3) อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากอุปกรณ์ เช่น ห้ามล้อขัดข้อง 4) อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อม เช่น ฝนตกถนนลื่น ทางโค้ง 5) อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากสัญญาณไฟจราจร/ป้ายบอกทางที่ไม่ชัดเจน
ดังนั้น การลดอุบัติเหตุให้สำเร็จจึงต้องพยายามดำเนินการในหลายมาตรการพร้อม ๆ กัน แต่หากผู้ขับขี่ยวดยานและผู้ใช้ถนนตั้งอยู่ในความไม่ประมาทและเคารพกฎจราจรด้วยแล้ว ก็จะช่วยลดอุบัติเหตุและการสูญเสียได้เป็นอย่างมาก
*******************************
*ท่านที่ต้องการอ่านบทความฉบับเต็ม สามารถอ่านบทความเรื่อง “อุบัติเหตุการจราจร ถึงเวลาต้องเอาจริง” ได้ในรายงานสุขภาพคนไทย ฉบับปี 2564 ครับ