บทความสั้น
ป่าไม้ ทะเล กับสุขภาพพื้นที่
Home / บทความสั้น

เฉลิมพล แจ่มจันทร์ คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
ตัวชี้วัดสุขภาพ | มกราคม 2564

 

รายงานสุขภาพคนไทย 2564 ซึ่งจะเปิดตัวในช่วงเดือนเมษายนปีนี้ ในส่วนของ "ตัวชี้วัดสุขภาพ" จะนำเสนอเรื่องราวสุขภาพของคนไทยที่น่าสนใจ ผ่านข้อมูลสถิติและตัวชี้วัดในหัวเรื่อง "ตัวชี้วัดสุขภาพพื้นที่" โดยหนึ่งในหมวดตัวชี้วัดที่จะนำเสนอและมีความน่าสนใจ คือ เรื่อง "ทรัพยากรธรรมชาติ" ซึ่งเป็นปัจจัยทางสังคมกำหนดสุขภาพหนึ่งที่สำคัญและมีบริบทที่แตกต่างในแต่ละภูมิภาคของไทย

​“ภาคเหนือ” เป็นภูมิภาคที่มีพื้นที่ป่าไม้คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 52) ของพื้นที่ทั้งหมดของภูมิภาค มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่น การมีพื้นที่ป่าไม้จำนวนมากสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรทางธรรมชาติและสภาพแวดล้อมของภูมิภาคซึ่งต้องการการบริหารจัดการและการดูแลที่เหมาะสม โดยเฉพาะ การจัดการและป้องกันปัญหา “ไฟไหม้ป่า” ที่มีแนวโน้มเป็นปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพของประชากรในพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น ในปี 2562 ประเทศไทยมีพื้นที่การเกิดไฟไหม้ป่ามากถึง 149,061 ไร่ เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจากในปี 2561 ที่มีพื้นที่ไฟไหม้ป่าอยู่ที่ 55,766 ไร่ โดยพื้นที่ที่เกิดไฟไหม้ป่าถึงมากกว่า 2 ใน 3 อยู่ในภาคเหนือ

ที่มา: สถิติไฟป่า ปี 2561-2562, ส่วนควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

สำหรับ “ภาคใต้” เนื่องจากทุกจังหวัดในภูมิภาคมีพื้นที่ติดชายทะเล ทั้งในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ทำให้ทรัพยากรทางทะเลนับเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญ ทั้งในด้านการดำรงชีวิตของคนและชุมชน และด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของพื้นที่ ปัญหาปัจจุบันที่พื้นที่ติดชายทะเลจำนวนมากกำลังประสบ ได้แก่ ปัญหา “ขยะทะเล” ซึ่งจากฐานข้อมูลการสำรวจขยะทะเลในพื้นที่ 24 จังหวัดติดชายทะเล ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในปี 2562 พบจำนวนขยะทะเลมีมากถึง 1.57 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าเมื่อเทียบกับผลการสำรวจในปี 2561 ที่พบปริมาณขยะทะเลทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 0.35 ล้านชิ้น โดยประเภทขยะทะเลที่มีมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ขวดเครื่องดื่มพลาสติก ถุงพลาสติก เศษโฟม ขวดเครื่องดื่มที่เป็นแก้ว และห่อหรือถุงอาหารประเทศต่าง ๆ ตามลำดับ

ที่มา: รายงานข้อมูลขยะทะเลในประเทศไทย ปี 2562, ฐานข้อมูลขยะทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

จากตัวอย่างข้อมูลที่นำเสนอข้างต้น เฉพาะในเรื่องพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ทรัพยากรทางทะเล จะเห็นได้ว่า แต่ละภูมิภาคของประเทศไทย (ในที่นี้รวมถึงภูมิภาคอื่น ทั้งภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) มีจุดแข็งในเรื่องความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติที่แตกต่างกันซึ่งเป็นปัจจัยเชิงบวกที่สำคัญต่อสุขภาพของประชากรในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การช่วยกันดูแลรักษาและการมีกลไกในการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความตระหนักและความร่วมมือจากทุกฝ่าย

​สำหรับเรื่องราวและรายละเอียดเนื้อหาที่น่าสนใจเพิ่มเติม ขอเชิญทุกท่านติดตามได้ใน "ตัวชี้วัดสุขภาพพื้นที่" ในรายงานสุขภาพคนไทย 2564 เร็วๆนี้ !


ภาพประกอบโดย  www.freepik.com


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333