ประเด็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดในช่วงวิกฤตโควิด-19 เป็นประเด็นที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากประเด็นหนึ่งในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นในแง่ผลกระทบที่ไม่เท่ากันต่อแรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งวิเคราะห์จากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร (Labour Force Survey: LFS)[1] ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของนักเรียนซึ่งวิเคราะห์จากครัวเรือนยากจน[2] แหล่งรายได้ของครัวเรือนซึ่งวิเคราะห์จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (Socio-economic Survey: SES)[3] รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นเชิงนโยบายต่าง ๆ[4] ในครั้งนี้จะขอนำเสนอข้อมูลเชิงประจักษ์ซึ่งเป็นข้อมูลปฐมภูมิเชิงปริมาณของโครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” สนับสนุนทุนวิจัยโดย มูลนิธิปิดทองหลังพระ เก็บข้อมูลด้วยการสำรวจโดยใช้แบบสอบถามทั้งสิ้น 1,466 ราย กระจายแบบสอบถามโดยใช้ฐานข้อมูลผู้สมัครขอรับเงินกู้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งธนาคารฯ เปิดให้กับประชาชนทั่วประเทศโดยไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้าของธนาคารฯ ทั้งนี้เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม – 25 ตุลาคม 2563
ภาพที่ 1 แสดงคุณลักษณะของผู้ตอบแบบสอบถามจำแนกตามเพศ ระดับการศึกษา และอายุ
แบบสำรวจได้ขอให้ผู้ตอบแบบสอบถามรายงานรายได้ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 และรายได้ในช่วงที่เกิดวิกฤตดังกล่าว ทั้งนี้ในการประมวลผลเพื่อหารายได้ที่หายไปโดยเฉลี่ยจำแนกตามเพศ อายุ การศึกษาพบว่า โดยเฉลี่ยผู้ตอบแบบสอบถามเพศหญิง รายได้หายไปโดยเฉลี่ยประมาณ 7,300 บาท คิดเป็นรายได้ที่หายไปร้อยละ 44 ในขณะที่เพศชายรายได้หายไปเฉลี่ยประมาณ 6,600 บาท คิดเป็นร้อยละ 39
ภาพที่ 2 สัดส่วนของรายได้ที่หายไปอันเนื่องมาจากวิกฤตโควิด-19 จำแนกตามเพศ
นอกจากนี้ เมื่อจำแนกรายได้ที่หายไปตามอายุ พบว่ากลุ่มอายุที่รายได้หายไปสูงกว่ากลุ่มอื่น คือกลุ่มวัยทำงาน โดยรายได้หายไปเฉลี่ยร้อยละ 40-42 ที่น่าสังเกตคือ กลุ่มอายุ 60-69 ปี ซึ่งปกติแล้วเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและอยู่ในวัยเกษียณ และน่าจะได้รับผลกระทบด้านรายได้ที่หายไปไม่มากนัก อย่างไรก็ตามจากการจำแนกข้อมูลดังกล่าวพบว่าประชาชนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบค่อนข้างสูงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้อาจเนื่องจากผู้สูงอายุ
ภาพที่ 3 สัดส่วนของรายได้ที่หายไปอันเนื่องมาจากวิกฤตโควิด-19 จำแนกตามอายุ
กลุ่มนี้ยังอยู่ในแรงงานนอกระบบ หรืออาจได้รับผลกระทบจากการที่รายได้ที่ลูกหลานส่งให้ลดลงอันเนื่องจากรายได้ของลูกหลานได้รับผลกระทบ และเมื่อจำแนกรายได้ที่หายไปตามระดับการศึกษาของผู้ตอบแบบสอบถามก็พบว่า ผู้ที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรีมีแนวโน้มที่สัดส่วนของรายได้หายไปสูงกว่าคนที่ได้รับการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป
ข้อสรุปจากข้อมูลบางส่วนของการวิจัยที่แสดงมานี้ ไม่ได้สร้างข้อค้นพบใหม่แต่อย่างใด เป็นแต่เพียงการยืนยันเพิ่มเติมด้วยชุดข้อมูลปฐมภูมิที่เก็บขึ้นใหม่ด้วยคำถามที่จำเพาะเจาะจงเกี่ยวกับผลกระทบของการระบาดโควิด-19 ที่มีต่อรายได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนที่รายได้หายไปเป็นสัดส่วนค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงานที่มีการศึกษาค่อนข้างน้อย ซึ่งสัดส่วนของรายได้ที่หายไปของคนกลุ่มมีความหมายต่อการดำรงชีวิตประจำวันอย่างมาก เพราะ
ภาพที่ 4 สัดส่วนของรายได้ที่หายไปอันเนื่องมาจากวิกฤตโควิด-19 จำแนกตามระดับการศึกษา
ประชาชนกลุ่มนี้มีเงินออมและสินทรัพย์ส่วนบุคคลน้อยกว่า อีกทั้งมีแนวโน้มที่มีหนี้นอกระบบค่อนข้างมากซึ่งเป็นหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูงรวมทั้งการประณีประนอมนี้อาจทำได้ยากกว่าหนี้ในระบบ นอกจากนี้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับการปรับตัวด้านอาชีพมากกว่ากลุ่มที่มีระดับการศึกษาสูง ทำให้นโยบายการปรับเปลี่ยนทักษะ (Reskill) หรือการยกระดับทักษะ (Upskill) อาจไม่ง่ายทั้งเนื่องจากขอบเขตของความรู้พื้นฐานและต้นทุนค่าเสียโอกาสหากต้องหยุดงานเพื่อรับการฝึกอบรม นโยบายการให้การช่วยเหลือต่างๆ จึงต้องทำด้วยความรอบคอบและคำนึงถึงข้อจำกัดพื้นฐานของประชาชนกลุ่มนี้อย่างรอบคอบ
เนื้อหาที่น่าสนใจและรายละเอียดเพิ่มเติม เชิญทุกท่านติดตามได้ใน “โควิด-19: ไวรัสเขย่าโลก” ในรายงานสุขภาพคนไทย 2564 ซึ่งจะออกเร็วๆ นี้
เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู ศุภกิจปิยะพรมดี พรพจ ปรปักษ์ขาม และนฎา วะสี (2020). เมื่อ โควิด-19 ปิดเมือง: ผลกระทบต่อแรงงานไทยในมิติ supply-side. aBRIDGEd Marketing Research Accessible, 7. https://www.pier.or.th/wp-content/uploads/2020/04/aBRIDGEd_2020_007.pdf
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา. (2563). เปิดรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาหลัง COVID-19. สืบค้นจาก https://www.eef.or.th/09-10-2020/ เมือ 1 กุมภาพันธ์ 2564.
เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู ศุภนิจ ปิยะพรมดี นฎา วะสี. (2563). สามทศวรรษปัญหาความเหลื่อมล้ำไทย. ธนาคารแห่งประเทศไทย. สืบค้นจาก https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Symposium_21Sep2020.aspx. เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564.
ภาคภูมิ จตุรพิธพรจันทร์ และไตรสรณ์ ถีรชีวานนท์. (2020). การจัดการความเหลื่อมล้ำจากวิกฤตโควิด. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute: TDRI). สืบค้นจาก https://tdri.or.th/2020/10/inequalities-in-the-time-of-covid-19/ เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564 .
ภาพประกอบ www.freepik.com