ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ระยะฟักตัวของโควิด-19 คือ 14 วัน โดยสามารถแพร่ระบาดผ่านละอองฝอย รวมทั้งอยู่ในอุจจาระ ดร.พลวัตร ติ่งเพชร สาขาวิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า แม้ไวรัส COVID-19 จะมีความอ่อนแอ แต่สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมได้นาน และไม่ตายง่ายๆ โดยเฉพาะสภาพอากาศอุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 50% เชื้อจะมีอายุได้นาน 6 วัน จากการทดลองพบว่า เชื้ออยู่พลาสติกได้ถึง 9 วัน อยู่ในเสื้อกาวน์ได้ 2 วัน ดังนั้น การสวมหน้ากากอนามัยจึงจำเป็นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วย กลุ่มที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย รวมทั้งบุคคลที่ต้องอยู่ในแหล่งชุมชนหรืออยู่ในที่ที่มีคนแออัด การสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้องจะช่วยให้สามารถป้องกันโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยก่อนใส่ต้องล้างมือให้สะอาด จับหูด้านข้าง หันฝั่งสีเข้มออกด้านนอก บีบลวดตรงจมูก และคลุมให้ถึงคาง
การใช้หน้ากากอนามัยแบบผ้า สามารถทดแทนในช่วงที่ขาดแคลนหน้กากอนามัยได้ แต่มีข้อควรระวัง คือ หน้ากากผ้าเก็บความชื้นโดยเฉพาะเมื่อใช้หลายๆชั่วโมง และสามารถซึมซับเชื้อโรคจากละอองฝอยจากน้ำมูกน้ำลายได้ดี เนื่องจากผิวนอกไม่ได้เคลือบสารป้องกันการซึมของละอองฝอย (กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ, 2563) จากการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อระหว่างการใช้หน้ากากผ้ากับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ โดยศึกษาในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล (MacIntyre CR, Seale H, Dung TC, et al., 2015) พบว่า หน้ากากผ้ามีประสิทธิภาพน้อยมากในการกรองอนุภาคขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (Shakya K M., Noyes, A., Kallin, R., et al, 2016) จึงไม่ควรนำมาใช้กับบุคลากรการแพทย์ อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของหน้ากากผ้าขึ้นอยู่กับชนิดของผ้าที่มาใช้
ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ (The Centers for Disease Control and Prevention: DCD) แนะนำให้ใช้หน้ากากหลายชั้น (Multi-layer cloth mask) ในที่สาธารณะ เพราะสามารถกันละอองฝอยจากการไอจาม ซึ่งจะช่วยป้องกันเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ได้ Bendix, A. and Liu, Y. (2020) รวบรวมข้อมูลจากผลการวิจัยประสิทธิภาพของหน้ากากแบบต่างๆ พบว่า หน้ากาก N95 สามารถป้องกันได้มากที่สุด เพราะสามารถปิดปากและจมูกได้แน่นจึงไม่มีละอองขนาดเล็กใดๆเข้าออกได้ การศึกษาของมหาวิทยาลัย Duke ผู้ที่สวมหน้ากาก N95 ขณะพูดคุยมีละอองฝอยผ่านหน้ากากออกมาน้อยกว่า 0.1% (Fischer, P.E., Fischer, C.M., Grass, D., et al)
ที่ผ่านมาทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยประสบภาวะขาดแคลนหน้ากากอนามัยตั้งแต่ระยะแรกที่โควิด-19 ทำให้คนจำนวนมากหันมาใช้หน้ากากผ้าที่ทำขึ้นเอง เนื่องจากเกิดปัญหาการกักตุนหน้ากากอนามัย ส่งผลกระทบต่อทั้งบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป เช่น บุคลากรทางการแพทย์ต้องใช้หน้ากากอนามัยซ้ำหลายวัน คนทั่วไปไม่สามารถหาซื้อหน้ากากอนามัยได้ หรือซื้อได้ในราคาที่แพงกว่าปกติมาก
ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากหลายประเทศเพราะไม่มีการป้องกัน ได้เห็นแล้วว่า การสวมหน้ากากอนามัยเป็นหนึ่งในวิธีที่จะป้องกันโควิด-19 ได้ เช่น ประเทศฝรั่งเศสมีการบังคับให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย แม้อยู่ในอาคารปิด หากฝ่าฝืนจะถูกปรับเป็นเงิน 135 ยูโร (ประมาณ 4,900 บาท)[1] ในสวีเดน นายกรัฐมนตรีสเตฟาน เลิฟเวียน ได้ประกาศเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2563 ให้ประชาชนรสวมหน้ากากอนามัยเมื่อขึ้นรถโดยสารสาธารณะ และในสถานที่ต่างๆ ทุกครั้ง[2]
ประสิทธิภาพของหน้ากากแบบต่างๆในการป้องกันเชื้อโคโรนาไวรัส 2019
ที่มา: https://www.businessinsider.com/best-masks-for-coronavirus-chart-2020-9
[2] https://www.dailynews.co.th/foreign/813670
ภาพประกอบ www.freepik.com