บทความสั้น
ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม: ผลกระทบเชิงบวกและ ทิศทางการพัฒนาหลังการระบาดของโควิด-19
Home / บทความสั้น

กัญญาพัชร สุทธิเกษม คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
เรื่องพิเศษ | กุมภาพันธ์ 2564

รายงานสุขภาพคนไทย 2564 นำเสนอเรื่องพิเศษประจำฉบับในประเด็น “โควิด-19: มหันตภัยร้ายเขย่าโลก” หนึ่งในหัวข้อที่นำเสนอมีประเด็นเรื่องผลกระทบของโควิด-19 ต่อโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ชวนทุกท่านติดตามดูว่า เมื่อโควิด-19 ระบาดในประเทศไทย ได้ส่งผลกระทบต่อระบบและโครงสร้างต่าง ๆ อย่างไรบ้าง


บทความสั้นฉบับนี้ จึงขอชวนท่านย้อนเวลากลับไปเมื่อปี 2563 เพื่อดูว่า สภาพแวดล้อมและธรรมชาติ ได้รับอิทธิพลจากการระบาดของโควิด-19 อย่างไร ภาพรวมของโลกในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 พบว่า มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงอย่างมาก เนื่องจากหยุดการคมนาคมขนส่งทั้ง รถยนต์ และเครื่องบิน ส่วนประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคมมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนลดลง 20 ล้านตัน (ร้อยละ 12.6) ซึ่งเกิดจากการหยุดกิจกรรมทั้งอุตสาหกรรม พลังงาน การเดินทางและขนส่ง รวมถึงการลดใช้พลังงานในครัวเรือน ในหลายๆพื้นที่ พบสัตว์น้ำและสัตว์ป่าหายาก ที่บ่งชี้ถึงความสงบของธรรมชาติและระบบนิเวศ เช่น พบโลมาปากขวดในทะเลอันดามันที่เกาะไม้ท่อน พบฉลามหูดำที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพีพี จังหวัดภูเก็ต พบเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ที่ชายหาด  บนเกาะสมุย เป็นต้น ในขณะที่เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กลดลง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบเชิงบวกนี้ไม่สามารถคงอยู่ในระยะยาวได้ หากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมกลับมาหลังการระบาดของโควิด-19 ดังนั้น ทิศทางการพัฒนาเพื่อให้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฟื้นกลับมาอย่างยั่งยืน จึงเป็นประเด็นชวนคิด

ปัจจุบันหลายฝ่ายมองว่า การกำหนดนโยบายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19 จะต้องคำนึงถึงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถเตรียมความพร้อมรับมือจากผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่กำลังรุนแรงขึ้นได้ รวมทั้งต้องมีนโยบายสาธารณะที่มุ่งการปฏิรูปพลังงานอย่างจริงจัง ส่งเสริมอาชีพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดการของเสียที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการส่งเสริมให้ชุมชนให้มีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อม ต้องทำควบคู่ไปอย่างต่อเนื่อง

ติดตามประเด็น ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในเรื่องพิเศษประจำฉบับ “โควิด-19: มหันตภัยร้ายเขย่าโลก” จากรายงานสุขภาพคนไทย 2564 เร็ว ๆ นี้


Related Topics :

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333