บทความสั้น
"สุขภาพยุคดิจิทัล: โอกาสใหม่ หรือภัยเงียบ”
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
ตัวชี้วัดสุขภาพ | มีนาคม 2568

เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร การซื้อขายสินค้า และการทำธุรกรรมทางการเงิน แม้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยอำนวยความสะดวกในหลายด้าน แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่ไม่อาจละเลยได้ ตัวอย่างเช่น การใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาการระรานทางไซเบอร์ โดยมีรายงานว่าเด็กไทยอายุ 9–18 ปี ประสบปัญหานี้ถึง 1 ใน 4 คน นอกจากนี้ ยังมีคดีออนไลน์เกี่ยวกับการฉ้อโกงมากถึง 570 คดีต่อวัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 80 ล้านบาทต่อวัน ไม่ว่าจะเป็นการหลอกลวงซื้อขายสินค้า การหลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน หรือการให้กู้เงินที่ไม่เป็นธรรม

 

นอกจากปัญหาด้านความปลอดภัย เทคโนโลยียังมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะการโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น บุหรี่ไฟฟ้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการพนันออนไลน์ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงและปัญหาสุขภาพในระยะยาว อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีดิจิทัลก็มีศักยภาพในการส่งเสริมสุขภาพและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางการแพทย์ เช่น การใช้แอปพลิเคชันสุขภาพ การให้คำปรึกษาทางไกล และระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้สะดวกขึ้นและลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ เพื่อให้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของประชาชนอย่างแท้จริง จึงจำเป็นต้องมีแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจน ได้แก่

- การตระหนักรู้ ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดสุขภาพของประชาชน

- การสร้างธรรมาภิบาล และความเชื่อมั่นของสาธารณะในการใช้เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ

- การพัฒนาแนวทางการจัดเก็บและใช้ข้อมูล อย่างเป็นระบบและปลอดภัย

- การลงทุนและวางแผนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสุขภาพอย่างเหมาะสมและยั่งยืน

เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นดาบสองคมที่มีทั้งโอกาสและภัยเงียบที่แฝงอยู่ หากมีการใช้และพัฒนาอย่างเหมาะสม ย่อมสามารถสร้างประโยชน์มหาศาลให้กับระบบสุขภาพของไทย แต่หากละเลยเรื่องความปลอดภัยและธรรมาภิบาล ก็อาจนำมาซึ่งผลกระทบที่ยากจะควบคุมได้ ดังนั้น การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการกำหนดทิศทางที่เหมาะสมของสุขภาพยุคดิจิทัล

 
 

Related Topics :

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333