ปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน และตาก ในช่วงฤดูแล้งไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นผลสืบเนื่องมาจากวิถีชีวิตทางการเกษตรซึ่งอาศัยการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับทำการเพาะปลูก การเผาป่า กอปรกับหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้านทางตอนบนที่พัดเข้ามา โดยพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้ของทั้ง 9 จังหวัดในภาคเหนือในปี 2563 กินบริเวณถึงกว่า 8.6 ล้านไร่ มากกว่าปี 2562 ถึง 1,403,953 ไร่ โดยแม่ฮ่องสอนมีพื้นที่เผาไหม้สะสมมากที่สุด พบว่าตัวเลขการเผาไหม้ในปี 2563 เพิ่มขึ้นแทบทุกจังหวัด และในช่วงต้นปี 2564 การเผาพื้นที่การเกษตรและไฟป่าในภาคเหนือก็เวียนกลับมาอีก ทำให้ปริมาณฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้นจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชากรในพื้นที่ภาคเหนือ กล่าวได้ว่า เชียงใหม่ตลอดจนพื้นที่ภาคเหนือทั้งหมดบนประสบกับปัญหาหมอกควันมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคมจนถึงพฤษภาคมของทุกปี และในระยะหลัง พื้นที่ชายแดนที่ติดต่อกับประเทศเมียนมาจะประสบปัญหาหมอกควันหนักขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีกลุ่มทุนขนาดใหญ่เข้าไปขยายพื้นที่การเกษตรแบบพันธสัญญาในรัฐฉาน โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำให้การเผาพื้นที่การเกษตรในเมียนมาเพิ่มขึ้นอย่างมาก
นอกจากการเผาที่ดินเกษตรแล้ว ปัญหาไฟป่าก็เป็นปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งของภาคเหนือ สาเหตุของการเกิดไฟป่านั้นอาจมาจากธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ แต่ที่ผ่านมา ทางภาคเหนือพบว่าไฟป่าส่วนใหญ่เกิดจากการจงใจจุดไฟเพื่อเก็บหาของป่าเป็นหลัก นอกนั้นมาจากการล่าสัตว์ และเผาป่าเพื่อขยายที่ทำกิน ตลอดจนเป็นผลจากความประมาทเลินเล่อจากการเผาไร่แล้วลุกลามเข้าไปไหม้ป่าอย่างรวดเร็ว โดยปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของประชากร เนื่องจากไม่มีสิทธิในที่ทำกินเป็นของตัวเอง และด้วยที่ราบมีจำกัด จึงมีการขยายพื้นที่เกษตรเข้าไปในเขตป่าไม้บนพื้นที่สูง และปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด จึงนำไปสู่การใช้ไฟในการจัดการที่ทำกิน อันเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาไฟป่าและหมอกควัน
ในอดีต ภาครัฐใช้มาตรการควบคุมการเผาคือ “ชิงเผา” เพื่อควบคุมพื้นที่ในการเผา ต่อมาในปี 2556 จึงเริ่มใช้มาตรการ “ห้ามเผา” โดยให้จังหวัด/อำเภอเป็นแกนหลักในการบริหารจัดการ แต่ข้อเท็จจริงระดับพื้นที่พบว่า ยังมีการเผาและขนาดของมลพิษเกินมาตรฐานอยู่เช่นเดิม สำหรับในปี 2564 จังหวัดเชียงใหม่จะยกเลิกการประกาศห้ามเผาเด็ดขาดเช่นหลายปีที่ผ่านมา แต่จะใช้วิธีขอความร่วมมือประชาชนและจัดแบ่งโซนเหนือ-ใต้เพื่อจัดการเชื้อเพลิง ซึ่งน่าจะยืดหยุ่นกว่านโยบายที่ถูกกำหนดจากส่วนกลาง รวมทั้งมีโครงการสนับสนุนหมู่บ้านปลอดการเผา เพื่อพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมในการจัดการชุมชนป้องกันปัญหาฝุ่นควันจากการเผา มาตรการเหล่านี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ยังเป็นคำถามที่ต้องรอคอยคำตอบต่อไป
ท่านที่ต้องการอ่านบทความฉบับเต็ม สามารถติดตามได้จาก รายงานสุขภาพคนไทยปี 2564 ซึ่งจะเผยแพร่ในช่วงเดือนเมษายน 2564 เป็นต้นไปครับ