“โควิดเหมือนกัน แต่โควิดไม่เหมือนกัน” น่าจะเป็นวลีอธิบายที่ดีสำหรับความหลากหลายของผลกระทบจากโควิด-19 ที่กลายเป็นชะตากรรมร่วมของแทบทุกคนและทุกหัวระแหงในโลก แม้โควิด-19 ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่เลือกเชื้อชาติ ชนชั้น วรรณะ เพศ และอายุ ในการที่จะเข้าสู่ร่างกายและทำลายการทำงานของปอด แต่ผลกระทบจากการระบาดของเชื้อกลับเลือกที่รักมักที่ชังอย่างเห็นได้ชัด จนความ “เหลื่อมล้ำ” ของมิติต่างๆ ในสังคมทั้งเพศ ฐานะทางเศรษฐกิจ การศึกษา ความรู้ทางเทคโนโลยี ความเป็นเมือง-ชนบท และอื่นๆ อีกมากมาย กลายเป็นรอยแยกที่ลึกและกว้างขึ้นอย่างชัดเจน ผลกระทบจากโควิด-19 เป็นผลกระทบเชิงสัมพัทธ์ (Relative impact) ที่แต่ละคนแต่ละกลุ่มรู้สึกและได้รับแตกต่างกัน
ในการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพของโครงการวิจัย “โควิด-19 ที่รากหญ้า”[1] ด้วยวิธีการสนทนากลุ่ม (Focus group discussion) จำนวน 15 กลุ่ม มีผู้เข้าร่วมการสนทนากลุ่ม 161 คน ใน 5 ภูมิภาคของประเทศ[2] ได้พบปัจจัยอย่างน้อย 6 ประการที่ทำให้เกิดความรุนแรงสัมพัทธ์ของผลกระทบ จากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้ผลกระทบที่มาถึงแต่ละคนมีความรุนแรงไม่เท่ากัน ประการแรก คือการภาระของชีวิต ซึ่งพบมากในกลุ่มวัยทำงานซึ่งมีภาระทั้งการเลี้ยงดูส่งเสียลูก รวมทั้งการดูแลพ่อแม่ ไม่เพียงมีภาระด้านการเงินเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับเวลาโดยเฉพาะในกรณีของลูกวัยเรียนที่ต้องอยู่บ้านเพื่อเรียนออนไลน์ในช่วงเวลาที่โรงเรียนเปิดๆ ปิดๆ และการไปดูแลพ่อแม่ที่อยู่คนละพื้นที่ นอกจากนี้บางคนที่ตัวเองไม่ได้รับผลกระทบด้านการทำมาหากินจากการแพร่ระบาดแต่อย่างใด แต่มีลูกหรือญาติพี่น้องที่ตกงานและกลับมาอยู่ด้วย แม้จะดีใจที่อยู่พร้อมหน้ากันแต่ก็ทำปฏิเสธไม่ได้ว่ามีภาระเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ภาระของชีวิตยังรวมถึง “หนี้” ซึ่งแทบทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าหากไม่มีห่วงเรื่องหนี้สิน สภาพจิตใจจะดีขึ้นกว่านี้มาก ยิ่งกลุ่มที่ต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบซึ่งต้องยอมรับอัตราดอกเบี้ยแสนโหดและเจ้าหนี้ก็มักเป็นคนในชุมชนที่รู้จักมักคุ้นกัน ทำให้บั่นทอนสภาพจิตใจอย่างมาก ประการที่สอง คือการมีอาชีพเสริม ซึ่งน่าแปลกใจที่พบว่าคนในชนบทส่วนใหญ่เป็นคนที่มีการทำมาหากินหลายทาง แม้แต่ละทางจะล้วนเป็นการทำงานนอกระบบ แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้กระแสรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ อาชีพหนึ่งได้รับผลกระทบก็ยังมีอาชีพสำรอง คนที่มีช่องทางการทำมาหากินที่หลากหลายสามารถเอาตัวรอดได้ดีกว่าคนรับจ้างที่มีเงินเดือนประจำ โดยเฉพาะที่อยู่ในเมืองที่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดเกิดขึ้น สถานประกอบการมีอันต้องปิดตัวลง กลุ่มลูกจ้างเหล่านี้ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเก็บข้าวเก็บของกลับสู่ภูมิลำเนาในต่างจังหวัด ประการที่สาม คือทุนเดิมของชีวิต ซึ่งไม่พ้นเรื่องฐานะ ทรัพย์สิน และเงินเก็บ หลายคนกลับไปอยู่บ้านพ่อแม่ซึ่งมีฐานะช่วยเหลือได้ ชาวบ้านหลายคนบอกว่า “ตอนนี้กินบุญเก่า” ซึ่งหมายถึงเงินเก็บสะสม หรือทางบ้านพอมีฐานะอยู่บ้าง หรือมีเรือกสวนไร่นาที่ทำให้อย่างน้อยมีอาหารกิน แต่สิ่งที่น่าห่วงคือคนทำงานหาเช้ากินค่ำและคนทำงานรับจ้าง ส่วนใหญ่มีเงินเก็บที่สามารถใช้ประทังชีวิตได้โดยไม่ต้องทำงานเพียง 2-3 เดือน เงินช่วยเหลือจากภาครัฐที่มาเป็นครั้งเป็นคราวจึงเป็นเหมือน ยากระตุ้นชั่วระยะสั้นๆ ที่ทำให้บรรยากาศการซื้อ-ขายในชุมชนมีชีวิตชีวาเป็นครั้งๆ ไป เงินหมดเมื่อไหร่ตลาดสด ตลาดนัดก็ซบเซาเหมือนเดิม ประการที่สี่ คือประสบการณ์การผ่านวิกฤตในชีวิต ซึ่งเห็นได้ชัดจากคนวัยกลางคน และคนสูงวัย ที่เคยประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจ และภัยธรรมชาติต่างๆ มาแล้ว กลุ่มคนเหล่านี้แม้จะบอกว่าวิกฤตโควิด-19 จะแรงกว่าบ้าง เบากว่าบ้าง เหมือนบ้าง แตกต่างบ้าง แต่อย่างน้อยคนกลุ่มนี้รู้ว่าจะผ่านพ้นไปอย่างไร ไม่ตื่นตระหนก หรือทุกข์ใจมากเกินไป ประการที่ห้า คือการมีอาชีพที่ไม่ได้รับ “ผลกระทบทางเศรษฐกิจ”จากโควิด-19 ซึ่งทุกคนเห็นเหมือนกันว่าเป็นกลุ่มข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจ ไม่รวมถึงพนักงานเอกชน แต่ก็ยังมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นข้าราชการ หรือรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้ทำอาชีพเสริม หรือมีรายได้เสริม และก่อหนี้สินมากมาย เพราะการแพร่ระบาดก็ส่งผลกระทบต่อรายได้เสริมซึ่งมีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ที่ก่อเอาไว้ นอกจากนี้ยังสะท้อนว่า พวกที่ค้าขายออนไลน์เป็นจะได้เปรียบกว่ากลุ่มอื่น ทำให้หลายคนเริ่มสนใจที่จะศึกษาเกี่ยวกับการค้าขายออนไลน์ ประการที่หก คือการใช้ชีวิตพอเพียง ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการมีเงินเก็บและการใช้จ่ายที่ไม่ฟุ่มเฟือย กลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนสมถะ ดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สะท้อนความคิดออกมาอย่างชัดเจนว่าในวิกฤตคราวนี้สังคมควรเห็นคุณค่าของการใช้จ่ายอย่างมีสติ การเก็บออม ไม่ฟุ้งเฟ้อกับวัตถุนิยมที่เกินความจำเป็น แข่งกันกินหรู แต่งหรู อยู่หรู บนกองหนี้มหาศาลและเงินเก็บน้อยนิด ด้วยหลงไปว่าเงินหาง่าย หมดไปเดี๋ยวก็หามาได้อีกโดยไม่ระมัดระวังรอบคอบเกี่ยวกับสิ่งไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้น
ความรุนแรงสัมพันธ์จะว่าไปแล้วก็ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันในการใช้ชีวิตซึ่งแต่ละคนมีไม่เท่ากัน จัดเป็น วัคซีนการดำรงชีวิต ที่ทำให้แต่ละคนรับมือกับวิกฤตต่างๆ แม้ความซับซ้อน ความหลากหลาย และความเหลื่อมล้ำ ที่ไม่อาจจะควบคุมให้ความรุนแรงของผลกระทบลดลงเสมอเหมือนกันหมดทุกคนได้ แต่อย่างน้อยคนในสังคมควรได้เรียนรู้เพื่อเป็นบทเรียนในการรับมือกับวิกฤตที่จะมาครั้งต่อไป ในรูปแบบและระดับความรุนแรงที่ยากจะเดา ได้อย่างรอบคอบ
ชวนติดตามเรื่องราวและรายละเอียดเกี่ยวกับวิด-19 เพิ่มเติมได้จากเรื่องพิเศษประจำฉบับ “โควิด-19: มหันตภัยร้ายเขย่าโลก” ในรายงานสุขภาพคนไทย 2564 ซึ่งจะออกเร็วๆ นี้
[1] ดำเนินการโดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) สนับสนุนทุนวิจัยโดย มูลนิธิปิดทองหลังพระ
[2] จัดที่เชียงใหม่ 3 กลุ่ม (25 คน) ขอนแก่น 3 กลุ่ม (16 คน) ชลบุรี 4 กลุ่ม (42 คน) สงขลา 5 กลุ่ม (41 คน) และกรุงเทพฯ 3 กลุ่ม (34 คน)
ภาพประกอบ www.freepik.com