“อายุเท่านี้จะไปมีเรื่องเครียดอะไร?” “เรื่องของผู้ใหญ่ เป็นเด็กจะไปรู้เรื่องอะไร?” คำพูดเหล่านี้ของผู้ใหญ่ที่มักจะพูดกับเด็ก เมื่อเด็กแสดงสีหน้าท่าทาง หรือบอกกล่าวความรู้สึกของตัวเองให้ผู้ใหญ่ได้รับรู้ สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ใหญ่มักจะตัดสินจากอายุ ว่าเพราะเป็นเด็กจึงไม่ต้องคิดอะไร ไม่มีเรื่องคิดมากหรือมีความรู้สึกไม่เท่าตัวของผู้ใหญ่เอง...
จริงๆ แล้ว เด็กหรือวัยรุ่นสามารถรับรู้และซึมซับเรื่องราวได้ไม่น้อย เหมือนคำเปรียบเปรยที่ว่า “เด็กคือผ้าขาว” อย่างไรก็ตามระบบความคิดและการจัดการความรู้สึกนึกคิดนั้นยังไม่ดีเท่ากับผู้ใหญ่ จึงทำให้อารมณ์และความรู้สึกของเด็กอ่อนไหวได้มากกว่า และภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ยังมีน้อยกว่าผู้ใหญ่เช่นกัน
ความเครียดในวัยเด็กมีหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ระบบการศึกษาและความคาดหวังผลการเรียนจากผู้ปกครอง ความสัมพันธ์กับครอบครัว สิ่งแวดล้อมภายในครอบครัวผ่านการเลี้ยงดู จนไปถึงปัจจัยทางโครงสร้างของสังคมที่ไม่ครอบคลุมและส่งเสริมกับเด็กทุกกลุ่ม ล้วนส่งผลกับความรู้สึก นึก คิด และกลายเป็นความเครียดของเด็กได้ในที่สุด
จากผลสำรวจ Mental health Check in ของกรมสุขภาพจิต พบว่า วัยรุ่นมีแนวโน้มที่จะมีความเครียดสูงขึ้น โดยในเดือนมีนาคม 2565 วัยรุ่นมีระดับความเครียดสูงกว่าวัยทำงานถึง 4 เท่า โดยมีสาเหตุมาจากความผิดหวังในเรื่องของความรัก การเรียน ค่าใช้จ่าย การถูกว่ากล่าวตักเตือน นำไปสู่ความขัดแย้งและแสดงออกมาผ่านทางการใช้ความรุนแรง
จากผลสำรวจนี้ เราจะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะวัยเด็กหรือวัยรุ่นไปจนถึงวัยทำงาน ก็สามารถที่จะเผชิญกับความเครียดได้แบบไม่เลือกช่วยวัย โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยและสภาพแวดล้อมที่มากระตุ้น แต่สิ่งที่ต่างกันนั้นคือ ความสามารถในการรับมือกับปัญหา ความรู้สึก และภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ในวัยเด็กจะมีน้อยกว่าวัยผู้ใหญ่ จึงอาจจะทำให้เกิดความเครียดได้แม้จะเป็นเรื่องที่เล็กน้อยกว่า
ถ้าผู้ใหญ่มองข้ามความเป็นเด็ก รับฟังปัญหาและเปิดใจที่จะรับฟังมากขึ้น ความเครียดของเด็กก็อาจจะคลี่คลายลงได้ เด็กที่ได้รับการเข้าใจก็จะเริ่มคิดและจัดการกับความรู้สึกของตัวเองได้ดีขึ้น ความรุนแรงในวัยเด็กก็จะลดลงตามไปด้วย ยังมีเรื่องราวของ “ความเครียด ภัยเงียบในสังคมไทย” ที่น่าสนใจ ให้ทุกท่านได้อ่านกันใน “รายงานสุขภาพคนไทย เล่มปี 2567” ผ่านทางเว็บไซต์ได้ที่ www.thaihealthreport.com หรือติดต่อขอรับหนังสือผ่านทางอีเมลได้ที่ thaihealthipsr@gmail.com
ติดตามทุกความเคลื่อนไหวของ “สุขภาพคนไทย”
Facebook : สุขภาพคนไทย
Instagram : @thaihealthreport
TikTok : @thaihealthreport (30 วิสุขภาพคนไทย)
ข้อมูลอ้างอิง
รายงานสุขภาพคนไทย 2567 หมวดเรื่องพิเศษประจำฉบับ เรื่อง ความเครียด ภัยเงียบในสังคมไทย