บทความสั้น
“เค็มถูกใจ ไตถูกตัด” เมื่อความเค็ม ร้ายแรงกว่าที่คิด
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | มีนาคม 2567

“เหยาะๆ จิ้มๆ ขอสักหยดสองหยดไม่เป็นไรหรอกหน่า...” อาการของใครบางคน ที่เข้าร้านก๋วยเตี๋ยวทีไรต้องมองหาขวดน้ำปลา เข้าร้านอาหารตามสั่งก็ไม่วายจะมองหาโถน้ำปลาพริกอีก เอ๊ะ! หรือเรียกว่าพริกน้ำปลา? แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ... เราติดเค็มเกินไปรึเปล่า? ประเด็นนี้สิสำคัญกว่า

ทำไม “ความเค็ม” ถึงน่ากลัวจนน่าหวั่นไต?

“รสเค็ม” เกิดจากปริมาณของ “โซเดียม (sodium)” ยิ่งโซเดียมมากจะยิ่งเค็มมาก การทานอาหารรสเค็มจะทำให้ร่างกายได้รับปริมาณโซเดียมสูง แต่จะมีอวัยวะที่ช่วยรักษาสมดุลของโซเดียมในร่างกายก็คือ “ไต” ที่จะขับโซเดียมส่วนเกินออกจากร่างกายทางปัสสาวะ หากโซเดียมในร่างกายสูง เราจะหิวและดื่มน้ำมากขึ้น ร่างกายเก็บน้ำไว้มากขึ้น ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูง ความดันในหน่วยกรองของไตสูงขึ้น ดังนั้น ถ้าความดันสูงขึ้นไตจะต้องทำงานหนักขึ้น กลายเป็นโรคไตเรื้อรังจนสุดท้ายอาจจะต้องตัดไตออก เพราะไตเป็นอวัยวะที่ไม่สามารถฟื้นฟูได้

จากข้อมูลของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม และสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย พบว่า คนไทยบริโภคโซเดียม เฉลี่ย 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน แต่โซเดียมที่ควรรับประทานในแต่ละวันตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก คือ น้อยกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน และจากข้อมูลของกรมอนามัย พบว่า คนไทยเป็นโรคความดันโลหิตสูงถึง 10 ล้านคน และเป็นโรคไตเรื้อรังประมาณ 7 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยทีเดียว

จากตัวเลขของผู้ป่วยที่สูงน่าตกใจ “กรมอนามัย” จึงจับมือลงนามบันทึกข้อตกลงกับผู้บริการออนไลน์หลายรายผ่านทางแอปพลิเคชันส่งอาหารเดลิเวอรี่ที่มีการใช้บริการที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อน “เมนูชูสุขภาพ” ให้ผู้บริโภคสั่งได้ โดยมีเป้าหมายในการลดการบริโภคอาหารที่ หวาน มัน และเค็มมากเกินไป และลดอัตราการเสียชีวิตจากโรค NCDs ให้น้อยลงที่สุด

ดังนั้น เวลาจะเหยาะ จิ้ม หรือกินเค็ม ต้องอย่าลืม “ไต” ที่อาจถูกตัด จากความเค็มที่ถูกใจ ท่องไว้ว่าเค็มน้อยกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน เทียบเท่ากับเกลือแกง ประมาณ 1 ช้อนชา เทียบเท่ากับน้ำปลาหรือซีอิ๊วประมาณ 1 ช้อนโต๊ะครึ่ง และอย่าลืมว่าในอาหารมีการปรุงมาอยู่แล้ว เพราะการรักษาไตน่าเศร้าใจกว่าการไม่ได้กินเค็ม

ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “เมนูสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม จากกรมอนามัย” ให้ทุกท่านได้อ่านกันใน “รายงานสุขภาพคนไทย เล่มปี 2567” ผ่านทางเว็บไซต์ได้ที่ www.thaihealthreport.com หรือติดต่อขอรับหนังสือผ่านทางอีเมลได้ที่ thaihealthipsr@gmail.com

ติดตามทุกความเคลื่อนไหวของ “สุขภาพคนไทย”

Facebook : สุขภาพคนไทย

Instagram : @thaihealthreport

TikTok : @thaihealthreport (30 วิสุขภาพคนไทย)

แหล่งข้อมูลอ้างอิง รายงานสุขภาพคนไทย 2565 หมวด 4 ผลงานดีๆ เพื่อสุขภาพคนไทย เรื่อง กรมอนามัยจับมือผู้ค้าออนไลน์ ส่งเมนูสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม

ข้อมูลเพิ่มเติม : https://www.patrangsit.com/กินเค็มกับโรคไต/

ข้อมูลเพิ่มเติม : https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/401#:~:text=จะเห็นได้ว่าการ,หัวใจ%20และโรคไตเรื้อรัง


Related Topics :

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333