“ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางรายได้ในภาคการเกษตร” ส่งผลให้แรงงานไทยในด้านการเกษตรมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษามักจะไม่เลือกทำงานในภาคการเกษตร ทำให้ในปี 2563 ภาคการเกษตรมีจำนวนแรงงานที่อายุต่ำกว่า 40 ปีลดลงเหลือเพียงร้อยละ 30 จากร้อยละ 65 ในปี 2533 และจะเหลือเพียงร้อยละ 21 ในอีก 20 ปีข้างหน้าหากปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข
แนวคิด เกษตรอัจฉริยะ(Smart farming) ที่เน้นการจัดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีดิจิทัล และด้านจักรกลการเกษตร จึงถูกนำมาใช้หาทางออกในด้านแรงงานและค่าใช้จ่ายในทางการเกษตร เพื่อการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางรายได้อย่างยั่งยืน
โดยนำ “เทคโนโลยีชีวภาพ” มาใช้ในเรื่องของการคัดเลือกพันธุ์พืช ที่เหมาะสมกับสภาพอากาศและให้คุณค่าทางอาหารสูง ใช้ “เทคโนโลยีดิจิทัล” มาช่วยในการขับเคลื่อนข้อมูลประมวลผล ควบคุมเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ภายในไร่ และใช้ “เครื่องจักรกลการเกษตร” มาช่วยทุ่นแรงแทนแรงงาน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบในการจัดการบริหารงานมากขึ้น เกษตรกรจะพึ่งพาตนเองได้และความไม่เท่าเทียมทางรายได้จะลดลง
นอกจากนี้ หากเกษตรกรสามารถพึ่งพาตัวเองได้ จะสามารถลดการพึ่งพิงรายได้จากคนในครอบครัวที่ย้ายถิ่นไปทำงานที่อื่นและยกระดับความเป็นอยู่ในครัวเรือนของเกษตรกรได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในระยะเริ่มต้นก็มีข้อจำกัดเช่นเดียวกัน เนื่องจากการเริ่มทำ Smart farming มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงและใช้ระยะเวลาในการคืนทุนที่ค่อนข้างนาน อีกทั้งพืชผลทางการเกษตรบางอย่างเป็นพืชมูลค่าต่ำ ซึ่งอาจจะไม่เหมาะสมกับเกษตรกรรายเล็ก ทำให้ Smart farming ยังคงกระจุกตัวอยู่ในพืชมูลค่าสูงและยังมีคนทำการเกษตรในลักษณะนี้ไม่มากเท่าไรนัก ดังนั้น การจะทำให้ smart farming เป็นไปได้มากที่สุด จะต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อเพิ่มเม็ดเงินให้เกษตรกรรายเล็ก ไม่ว่าจะเป็นการประกันราคาสินค้าให้สูงขึ้นหรือสนับสนุนทางด้านความรู้และเทคโนโลยี เพราะเมื่อเม็ดเงินในมือเพิ่มขึ้น เกษตรกรจะมีทางเลือกในการใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้นและสามารถพัฒนาตนเองให้เป็น Smart farmer ต่อไปได้อีก