บทความสั้น
ประสบการณ์เมื่อเฉียดใกล้เจ้าโควิด-19
Home / บทความสั้น

กัญญา อภิพรชัยสกุล คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
ตัวชี้วัดสุขภาพ | เมษายน 2564

จากสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบมากมายมหาศาลไปทั่วโลก สำหรับประเทศไทยได้รับการยกย่องว่าสามารถจัดการเจ้าโควิด-19  ได้เป็นอย่างดี แต่ก็ไม่วายเกิดผลกระทบอยู่ดี จากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยการตอบแบบสอบถามออนไลน์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าคนที่ประกอบอาชีพพนักงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และข้าราชการไม่ได้รับกระทบจากเจ้าโควิด-19

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ผู้เขียนผ่านสถานการณ์ต่างๆ มากมายแต่ไม่เคยเฉียดใกล้กับสถานการณ์ที่ใกล้ชิดกับผู้เสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 เลยสักครั้ง จนกระทั่งปลายเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีความจำเป็นต้องเดินทางไปทำงานที่ต่างจังหวัด ซึ่งการเดินทางต้องเดินทางโดยรถตู้พร้อมทีมผู้ช่วยนักวิจัยอีก 3 คน 


วันที่ 1 วันแรกของวันเดินทาง ซึ่งการเดินทางใช้เวลากว่า 10 ชั่วโมง เนื่องจากเป็นจังหวัดที่อยู่ทางภาคใต้ระยะทางกว่า 750 กม. การเดินทางมีผู้ร่วมเดินทางรวม 5 คน พร้อมคนขับ พวกเราแวะรับประทานอาหารกลางวันซึ่งเป็นร้านของญาติคนขับรถตู้ จากนั้นจึงเดินทางต่อจนถึงจังหวัด ก. (ขอใช้ชื่อสมมุติ) โดยสวัสดิภาพ ก่อนเข้าที่พักแวะรับประทานอาหารเย็นที่ร้านดังของจังหวัดและเข้าที่พักโรงแรมแห่งหนึ่ง


วันที่ 2 ผู้เขียนพร้อมผู้ช่วยนักวิจัยอีก 3 ท่าน เดินทางไปรับอาจารย์นักวิจัยหลักอีก 5 ท่าน ที่สนามบิน รวมคนที่อยู่บนรถตู้ก็ 10 คนพอดี เดินทางไปรับประทานอาหารกลางวันที่ร้านดังแห่งหนึ่ง จากนั้นทีมวิจัยทุกคนประชุมเพื่อเตรียมงานในวันรุ่งขึ้นที่ร้านกาแฟชื่อดังในจังหวัดเช่นกัน และเข้าพักที่โรงแรมเดิม ช่วงเย็นออกมารับประทานอาหารเย็นและต่อด้วยร้านโรตีเจ้าดังอีกเช่นกัน 

วันที่ 3 ทีมวิจัยเดินทางไปจัดประชุมที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งที่ 1 มีผู้มาร่วมประชุม 35 คน การประชุมแบ่งผู้ร่วมประชุมเป็น 5 กลุ่ม มี 4 กลุ่ม อยู่นอกอาคาร มีเพียง 1 กลุ่มอยู่ในห้องแอร์ การประชุมผู้เข้าร่วมประชุมจะต้องเวียนให้ครบทุกกลุ่ม เสร็จจาก อบต. แห่งที่ 1 ได้เดินทางไปจัดประชุมต่อที่ อบต. แห่งที่ 2 มีผู้มาร่วมประชุม 35 คน และจัดประชุมในลักษณะเดียวกันกับแห่งแรก สำหรับ อบต.นี้ ทั้ง 5 กลุ่มอยู่ในห้องประชุมที่เป็นห้องแอร์เดียวกันทั้งหมด ทีมวิจัยประสบความสำเร็จในการทำงาน ผู้ร่วมประชุมมากันครบตามเป้าหมาย หลังจากทำงานเสร็จ ได้เดินทางมารับประทานอาหารเย็นร้านดังอีกร้านซึ่งเป็นคนละร้านกับวันที่สอง ก่อนเข้าที่พัก 

วันที่ 4 ทีมวิจัยเตรียมตัวเดินทางไปจังหวัด ข. ก่อนเดินทางไปรับประทานอาหารกลางวันซึ่งเป็นร้านดังของจังหวัด ภายในร้านมีคนเยอะมาก และไม่มีการเว้นระยะห่างเลย แต่ทีมเราก็ป้องกันตามมาตรการอย่างเคร่งคัด เมื่อถึงจังหวัด ข. พวกเราเข้าพักที่โรงแรมในตัวจังหวัด และรับประทานอาหารเย็นร้านอาหารดังแห่งหนึ่งในจังหวัดและกลับที่พัก 

วันที่ 5 เดินทางไปจัดประชุมที่อบต.แห่งที่ 1 ของจังหวัด ข. มีผู้ร่วมประชุม 34 คน  ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ตกบ่ายทีมต้องเดินทางไปอีกอำเภอหนึ่งซึ่งอยู่บนเกาะเพื่อจัดประชุมที่ อปท. อีกที่หนึ่ง เมื่อนั่งเรือไปถึงบนเกาะ ได้ เข้าที่พักเพื่อเก็บสัมภาระและออกรับประทานอาหารเย็นที่ร้านดังแห่งหนึ่ง แต่เนื่องจากผลกระทบจากเจ้าโควิด-19 ทำให้ร้านนี้ไม่มีคนอื่นเลยทั้งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เราจึงเป็นกลุ่มเดียวที่รับประทานอาหารของร้านนี้ กลางดึกของคืนวันนี้เอง ผู้เขียนได้รับโทรศัพท์จากอาจารย์หัวหน้าโครงการว่าน้องนักวิจัยผู้ช่วยในทีมนั้นก่อนเดินทางมาทำงาน น้องได้ไปรับประทานอาหารที่ผับดังแห่งหนึ่งย่านศาลายา ซึ่งวันที่น้องไปมีนักร้อง ติดโควิด-19 มาร้องเพลงพอดี ณ เวลานั้น ผู้เขียนรู้สึกพูดไม่ออกบอกไม่ถูก นึกย้อนเวลากลับไปเมื่อ 4 วันที่ผ่านมา เราพบปะผู้คนมากกว่า 100 คน จะทำอย่างไรดีหากน้องติดเจ้าโควิด-19 ผลกระทบที่จะเกิดตามมานั้นมีมากมายแน่นอน คิดไปต่าง ๆ นานา ทำให้ผู้เขียนนอนไม่หลับจนเช้า 

วันที่ 6 ทีมวิจัยปรึกษากันว่าอย่างไรก็ตามยังคงต้องเดินทางไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แห่งที่ 2 ซึ่งเป็นเทศบาลตำบลที่ต้องจัดประชุม และได้นัดกลุ่มเป้าหมายไว้ 35 คน แต่ก่อนจัดประชุมขอเข้าพบกับนายก เทศมนตรีก่อน เพื่อแจ้งเหตุการณ์ดังกล่าวให้ทราบด้วยเหตุผลของจริยธรรมการวิจัย เมื่อถึงเทศบาล อาจารย์หัวหน้าโครงการฯ และอาจารย์หัวหน้าทีมจัดประชุม เข้าพบปลัดเทศบาลซึ่งรักษาการแทนนายกฯ ปลัดฯ ตกใจมากหลังจากทราบเหตุการณ์ดังกล่าว โทรศัพท์แจ้งสำนักงานสาธารธสุขอำเภอ ขณะนั้นทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก เจ้าหน้าที่ทุกคนดูตื่นตระหนกมาก ทีมวิจัยตัดสินใจยกเลิกการประชุม เก็บของทุกอย่างเพื่อมาขึ้นรถตู้ ปลัดฯ เดินมาบอกว่าทีมเรายังไม่สามารถออกนอกพื้นที่ได้ต้องรอจนกว่าเจ้าหน้าที่สอบสวนโรคจะมา และแจ้งให้ออกไปรอนอกตัวอาคารก่อน เมื่อทีมเราออกจากตัวอาคาร เจ้าหน้าที่รีบเช็ดทำความสะอาดสถานที่ภายในอาคารทั้งหมด จากนั้นทีมวิจัยไปรอที่รถตู้ ทุกคนยืนเก้ๆ กังๆ อยู่ข้างรถตู้นั่นเอง ผ่านไปเกือบ 10 นาที มีเจ้าหน้าของเทศบาลทำงานอยู่กองอนามัยเดินเอาเก้าอี้มาให้และมายืนคุยกับเรา โชคดีที่น้องเคยทำงานที่โรงพยาบาลมาก่อนจึงเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี จากนั้นจึงพาทีมวิจัยไปนั่งที่โรงอาหารและพยายามติดต่อกับเจ้าหน้าที่ที่จะมาสอบสวนโรค ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่ จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) จนกระทั่งเจ้าหน้าที่มาถึงและทำการสอบสวนโรคทีมวิจัยเราทุกคน ซึ่งผลก็คือน้องนักวิจัยผู้ช่วยซึ่งเป็นผู้เสี่ยงต้องไปทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในขณะที่คนอื่นๆ เสี่ยงต่ำไม่จำเป็นต้องตรวจ โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าให้รอผลตรวจของผู้เสี่ยงในวันรุ่งขึ้นก่อน หากน้องพบเชื้อคนอื่นที่เหลือค่อยไปตรวจ ทันทีที่เจ้าหน้าพูดจบ ทีมที่เหลือพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ขอตรวจเลยไม่ต้องการรอจะได้รู้ผลพร้อมน้องไปเลย เจ้าหน้าที่ใจดีมากๆ ประสานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจนทีมเราได้ตรวจทุกคนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ต้องรอเวลาหมอมาตรวจเวลา 14.00 น. และเมื่อตรวจเสร็จทุกคนต้องเข้าสถานกักตัวของรัฐ (State Quarantine) ทีมเราสอบสวนโรคเสร็จเวลาประมาณ 10.30 น. ระหว่างรอนั้นเจ้าหน้าที่เทศบาลคนเดิมซึ่งใจดีมากๆ หาขนมเป็นน้ำกะทิแตงไทย หาเครื่องดื่มน้ำอัดลมและน้ำแข็งมาเลี้ยงเราอย่างดี เพื่อให้คลายร้อนและผ่อนคลายจากความวิตกกังวล จากนั้นนำอาหารกลางวันมาให้เรารับประทาน หลังทานอาหารกลางวันเสร็จ ออกจากเทศบาลเพื่อเดินทางไปยังโรงพยาบาลประจำอำเภอเพื่อรอตรวจเจ้าโควิด-19  

เมื่อถึงโรงพยาบาลประจำอำเภอ เจ้าหน้าที่แจ้งเราว่าสถานที่สำหรับตรวจเป็นเต็นท์แยกห่างออกจากตัวโรงพยาบาลมีเก้าอี้ให้นั่งรอห่างจากกันประมาณ 1 เมตร เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแจ้งว่าให้รอบนรถจนเวลาประมาณ 13.50 น. ค่อยลงมาก็ได้ พอได้เวลาทีมจึงลงจากรถไปนั่งรอ เจ้าหน้าที่ทำการซักถามชื่อที่อยู่ที่ถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง เวลา 14.00 น. คุณหมอขับรถมาจอดหน้าเต็นท์ที่ทีมเรานั่งคอยอยู่ จากนั้นเข้าไปแต่งตัวซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นชุด PPE (Personal Protective Equipment) ขณะนั้นผู้เขียนก็ใจตุ๊มๆ ต่อมๆ   ว่าการตรวจโควิด-19  โดยการทำ swab นั้นจะเจ็บหรือไม่ อาจารย์หัวหน้าทีมซึ่งเป็นคนเดียวที่เคยตรวจมาแล้วปลอบใจทุกคนว่าไม่เจ็บ เมื่อคุณหมอแต่งตัวเสร็จคุณหมอเดินมาสวัสดีทีมเราทุกคนและเรียกคิวที่ 1 ซึ่งเป็นอาจารย์หัวหน้าทีม จากนั้นคิวต่อไปต้องรอจนกว่าคุณหมอจะเปลี่ยนชุดใหม่เสร็จ ซึ่งผู้เขียนเข้าใจในตอนนั้นเองว่าทำไมเจ้าหน้าที่ถึงบอกเราว่าไม่ต้องตรวจก็ได้ถ้าเสี่ยงต่ำเพราะหากจะตรวจค่าใช้จ่ายอยู่ที่คนละ 3,500 บาท เพราะคุณหมอเปลี่ยนชุดใหม่และอุปกรณ์ใหม่ทุกครั้ง เมื่อถึงคิวของผู้เขียนซึ่งเป็นคิวที่ 6 ผู้เขียนนั่งเก้าอี้สำหรับตรวจ คุณหมอชวนคุยเพื่อลดความเครียดและทำการ swab ที่โพรงจมูก ขณะทำการ swab ไม่เจ็บนะรู้สึกแสบๆ เหมือนจะจามแต่ไม่จาม จากนั้นคุณหมอมีไม้สำหรับป้ายในลำคอทำการป้ายในคอทั้งสองด้าน เป็นอันเสร็จการเก็บสารคัดหลั่งเพื่อไปตรวจหาเชื้อเจ้าโควิด-19 เมื่อตรวจครบทุกคนจากนั้นทีมเดินทางไปยังโรงแรมที่เป็นสถานกักกันตัวของรัฐ State Quarantine Hotel 

เมื่อถึงโรงแรมซึ่งเป็นโรงแรมระดับประมาณ 3.5 ดาว จากผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้โรงแรมไม่มีแขกเลย จึงผันตัวเองมาเป็นสถานกักกันตัวของรัฐ ทีมได้รับการต้อนรับอย่างเป็นกันเอง ก่อนเข้าภายในโรงแรม ทุกคนต้องยืนบนเครื่องพ่นฆ่าเชื้อโรคทุกคน จากนั้น Check-in เข้าที่พักเหมือนโรงแรมทั่วไป ทางโรงแรมแจ้งว่าจะมี อาหารให้ฟรี 3 มื้อ หากต้องการสิ่งใดเพิ่มเติมสามารถแจ้งได้ เมื่อเข้าห้องพักแล้วไม่สามารถออกนอกโรงแรมได้ ทุกคนต้องสื่อสารผ่านทางไลน์กลุ่มของโรงแรม ซึ่งในไลน์กลุ่มจะมีเจ้าหน้า รพสต. และเจ้าหน้าที่ของ อบต.อยู่ในกลุ่มด้วย หากต้องการสิ่งใดเพิ่มเติมต้องแจ้งผ่านทางไลน์กลุ่มที่ทางโรงแรมตั้งไว้ ของทุกอย่างเจ้าหน้าที่จะนำมาไว้ที่โต๊ะหน้าห้องแต่ละห้อง เมื่อเข้าห้องพักภายในห้องพักสะดวกสบายเหมือนโรงแรมทั่วไป อาหารเย็นเป็นอาหารมื้อแรกที่ทางโรงแรมจัดมาให้ เป็นข้าวเปล่ามาพร้อมกับผัดกระเพราไก่ อร่อยใช้ได้เลยทีเดียว ปริมาณอาจน้อยไปนิดสำหรับคนทานจุ แต่สำหรับผู้เขียนถือว่าพอดีแล้ว แต่ทุกคนก็สั่งขนมและเครื่องดื่มเพิ่มกันทุกคน อาหารมื้อที่ 2 ในเช้าวันรุ่งขึ้นเป็นข้าวผัดมาพร้อมไข่ดาวและกาแฟอีก 1 แก้ว มื้อนี้ข้าวเยอะอิ่มจุกเลยทีเดียวอร่อยใช้ได้ เจ้าหน้าที่แจ้งว่าผลตรวจเชื้อจะออกประมาณ 13.00-14.00 น. ให้พักผ่อนกันก่อน ตกเที่ยงอาหารเป็นข้าวเปล่ามาพร้อมไก่ผัดฉ่า ผู้เขียนสั่งส้มตำมาเพิ่มถือว่าอร่อยเลยทีเดียว เริ่มเข้าช่วงบ่ายผู้เขียนเองเริ่มวิตกจริต พอบ่ายสองเริ่มรอไม่ไหวโทรศัพท์หาเจ้าหน้าที่ รพสต. เจ้าหน้าที่แจ้งว่าผลยังไม่ออก ตอนนี้เองเพื่อนๆ ญาติพี่น้องเริ่มทยอยส่งคำถามมาในไลน์ ผลออกยังๆ เราได้แต่ตอบว่ายัง และเริ่มรู้สึกกังวล  บ่ายสามก็แล้ว จนประทั่งบ่ายสามโมงครึ่งเจ้าหน้าที่โทรศัพท์ มาแจ้งว่า ผลของน้องที่เสี่ยงสูงออกมาก่อน ซึ่งผลเป็นลบคือไม่ติดเท่านั้นแหล่ะเหมือนยกภูเขาออกจากอก เจ้าหน้าที่บอกต่อว่าหากน้องไม่ติดคนอื่นที่เหลือก็ไม่น่าจะติด จากนั้นไม่นานเจ้าหน้าที่ก็ทยอยแจ้งผลเข้าในไลน์กลุ่ม เมื่อผลออกครบทุกคนพบว่าทุกคนปลอดภัย ทีมทุกคนเก็บกระเป๋าอย่างรีบเร่งและ Check-out ออกจากโรงแรม เดินทางกลับเข้าตัวเมืองเพื่อส่งอาจารย์ทั้ง 5 ท่าน พร้อมน้องนักวิจัยผู้เสี่ยงสูงขึ้นเครื่องบินกลับ ส่วนผู้เขียนและน้องนักวิจัยผู้ช่วยอีก 1 คน เดินทางกลับโดยรถตู้ในคืนนั้นเลยเช่นกัน


ที่เขียนมาทั้งหมดนี้เพื่อเป็นการบันทึกประสบการณ์การตรวจหาเชื้อโควิด-19 เหตุการณ์นี้มีบทเรียนเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็วในการที่ต้องแจ้งต่อผู้บริหารในพื้นที่ การตัดสินใจแจ้งยกเลิกการประชุม ซึ่งเป็นจริยธรรมการวิจัยที่นักวิจัยต้องแจ้งตามความเป็นจริงไม่หลอกลวงเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล เหตุการณ์นี้ถือบทเรียนของทีมนักวิจัย ซึ่งหากน้องนักวิจัยผู้เสี่ยงติดเชื้อขึ้นมา ลองมองย้อน Time line กลับไป คนจำนวนมากที่พบเจอกับทีมเรา จะต้องแจ้งให้เขาเหล่านั้นไปตรวจทุกคน ทั้งยังคนในครอบครัวของพวกเค้าเหล่านั้นอีก ซึ่งไม่รู้ว่ากี่คนต่อกี่คน จาก 100 คน เป็น 200 คน อย่างต่ำ ผู้เขียนคิดไม่ออกเลยว่าจะเกิดผลกระทบอะไรตามมาอีก ผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้มาได้อย่างปลอดภัยถือว่าครั้งนี้ผู้เขียนเฉียดเข้าใกล้เจ้าโควิด-19 มากที่สุด และจะไม่ขอเข้าใกล้เจ้าโควิด-19 อีกเด็ดขาด ดังนั้นเราควรป้องกันตัวเองและปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ  อย่างเคร่งคัดเพื่อบรรเทาภาระของคุณหมอคุณพยาบาลรวมทั้งเจ้าหน้าสาธารณสุขผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ซึ่งผู้เขียนขอขอบคุณทุกท่านมา ณ ที่นี้ เป็นอย่างสูง  


ภาพประกอบโดย  www.freepik.com


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333