“องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) เปิดผลทดสอบ PISA หรือ ผลประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล พบว่าเด็กไทยกำลังวิกฤต คะแนนตกลงทุกปี โดยในปี 2022 คะแนนต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี”
PISA เป็นการประเมินความรู้และทักษะของนักเรียนอายุ 15 ปีในด้านคณิตศาสตร์ การอ่าน และวิทยาศาสตร์ เพื่อสำรวจว่า นักเรียนสามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อน คิดอย่างมีวิจารณญาณ และสื่อสารอย่างมีประสิทธิผลได้ดีเพียงใด ซึ่งสามารถสะท้อนว่า ระบบการศึกษากำลังเตรียมนักเรียนให้พร้อมรับมือกับความท้าทายในชีวิตจริงและความสำเร็จในอนาคตได้ขนาดไหน
ที่ผ่านมา การศึกษาไทยมีการ “ปฏิรูป” จากการผลักดันให้เกิด พรบ. ปฏิรูปการศึกษา พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งดำเนินการมามากกว่า 2 ทศวรรษ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อจับตามองคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยผ่านมุมมองคุณภาพการศึกษาของนักเรียนกลับพบว่า คุณภาพการศึกษาของนักเรียนไทยกลับ “ไม่ได้ก้าวไปข้างหน้า” หรืออาจถือได้ว่า “ถอยหลัง” หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั้งในและนอกภูมิภาค ซึ่งเห็นได้ชัดจากระดับผลการสอบ PISA ที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
การศึกษาของไทยผ่านการปฏิรูปมาแล้วถึง 4 ครั้ง แต่ผลลัพธ์ด้านการศึกษากลับมีแนวโน้มที่สวนทางลงนั้น ทำให้สังคมไทยต้องตระหนักและช่วยกันคิดวิเคราะห์ได้แล้วว่า สิ่งใดเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปและพัฒนาคุณภาพการศึกษา? รวมถึงการพัฒนาศักยภาพการศึกษาของเยาวชนไทย เพื่อที่จะได้แก้ปัญหาอย่างตรงจุดและการปฏิรูปการศึกษาจะสัมฤทธิผลมากที่สุด
“ผลการประเมิน PISA ไม่ได้สะท้อนแค่การศึกษา” แต่ยังสามารถมองลึกไปถึงคุณภาพของบุคลากรในประเทศ และยังถูกใช้เป็นเกณฑ์หนึ่งในการจัดลำดับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และความน่าลงทุนของประเทศอีกด้วย ดังนั้น หากไม่รีบแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด คุณภาพการศึกษาที่แย่ลง อาจส่งผลกระทบได้ในหลายมิติ เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้ว่า “การศึกษา” เป็นรากฐานที่สำคัญของสุขภาวะในทุกมิติ เพราะการศึกษาที่ดี ย่อมสร้างโอกาสได้มากกว่าในทุกๆ ด้านนั่นเอง
ยังมีอีกหลายบทความทางสุขภาพที่น่าสนใจ ให้ทุกท่านได้อ่านกันใน “รายงานสุขภาพคนไทย เล่มปี 2566” สามารถอ่านฟรีได้แล้ววันนี้ ผ่านทางเว็บไซต์ได้ที่ www.thaihealthreport.com หรือติดต่อขอรับหนังสือผ่านทางอีเมลได้ที่ thaihealthipsr@gmail.com
ติดตามทุกความเคลื่อนไหว ของ “สุขภาพคนไทย”
Facebook : สุขภาพคนไทย
Instagram : @thaihealthreport
TikTok : @thaihealthreport (30 วิสุขภาพคนไทย)
ข้อมูลอ้างอิง