ในปี 2566 ประเทศไทยกำลังพบการน้ำท่วมอย่างหนักในหลายจังหวัด จากสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 30 จังหวัด ประชาชนได้รับผลกระทบ 48,554 ครัวเรือน ปัจจุบัน(วันที่ 20 ตุลาคม 2566) ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมใน 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโขทัย ขอนแก่น เลย กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี และจังหวัดสมุทรปราการ ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 16,870 ครัวเรือน โดยเฉพาะเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำชี ที่กำลังประสบปัญหาจากน้ำล้นเขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนลำปาวจนต้องเร่งระบายและกระทบต่อชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำที่ จ.ร้อยเอ็ด ที่โดนน้ำท่วมขยายวงกว้าง ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
แม้ว่าจะมีการจัดการน้ำที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่เนื่องด้วย “ปัญหาผังเมือง” ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ประกอบกับ “ปัจจัยด้านความหนาแน่นของการตั้งถิ่นฐานและสิ่งปลูกสร้างใหม่” รวมไปถึง “ปัจจัยด้านสภาพอากาศ” ทำให้ประเทศไทยยังประสบปัญหานี้อยู่ตลอด โดยเฉพาะในหน้ามรสุมทำให้มีปริมาณน้ำที่มากและมีการระบายน้ำออกไม่ทัน
ความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมส่งผลกระทบในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติด้านเกษตรกรรม สุขภาพกาย สุขภาพใจ รวมไปถึงเศรษฐกิจระดับประเทศ แม้จะมีการเยียวยาจากภาครัฐ แต่การเกิดน้ำท่วมซ้ำซากในทุก ๆ ปี ก็ทำให้สุขภาพจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบแย่ลงไม่ใช่น้อย และบางครั้งการเยียวยาจากภาครัฐก็เทียบไม่ได้กับสิ่งที่พวกเขาต้องสูญเสียไปในแต่ละปี ไม่ว่าจะเป็นโอกาส ทรัพย์สิน เครื่องมือทำกิน สภาวะจิตใจ การเจ็บป่วย ซึ่งก็รวมไปถึงชีวิตด้วย
จากความเสียหายที่เกิดขึ้น “ประชาชนในพื้นที่เป็นผู้ที่ได้รับการสูญเสียและผลกระทบมากที่สุด” ดังนั้น หากภาครัฐมีการให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนปัญหา หรือทำการลงพื้นที่สำรวจและหาทางแก้ปัญหาอย่างจริงจัง อาจจะได้แนวทางสำคัญในการบริหารจัดการน้ำได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าปัญหาได้รับการแก้ไขตั้งแต่ต้นสายปลายเหตุด้วยปัจจัยที่เราสามารถกำหนดได้ จะเป็นการแก้ปัญหาและจัดการบริหารน้ำที่ยั่งยืน ซึ่งลดการสูญเสียและอาจก่อให้เกิดประโยชน์ในภาคเกษตรกรรมและภาคอื่น ๆ ได้อีกด้วย
ยังมีอีกหลายบทความทางสุขภาพที่น่าสนใจ ให้ทุกท่านได้อ่านกันใน “รายงานสุขภาพคนไทย เล่มปี 2565” สามารถอ่านฟรีได้แล้ววันนี้ ผ่านทางเว็บไซต์ได้ที่ www.thaihealthreport.com หรือติดต่อขอรับหนังสือผ่านทางอีเมลได้ที่ thaihealthipsr@gmail.com
ติดตามทุกความเคลื่อนไหว ของ “สุขภาพคนไทย”
Facebook : สุขภาพคนไทย
Instagram : @thaihealthreport
TikTok : @thaihealthreport (30 วิสุขภาพคนไทย)
ข้อมูลอ้างอิง