"คนวัยทำงาน ใช้เวลาถึง 1 ใน 3 ของแต่ละวันไปกับการทำงาน ดังนั้น ลักษณะงาน สภาพแวดล้อมและนโยบายของสถานที่ทำงาน จึงมีอิทธิพลสำคัญต่อพฤติกรรมสุขภาพของคนวัยทำงาน"
การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มีความแตกต่างกันตามสถานภาพการทำงาน จากการสำรวจ พฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร พ.ศ. 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า “ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ นายจ้าง และลูกจ้างเอกชน ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อย่างน้อยทุกสัปดาห์” เป็นสัดส่วนที่สูงที่สุด จากภาพรวมพบว่า “การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจมีสัดส่วนการดื่มอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งมากที่สุดถึงร้อยละ 45.2” รองลงมาคือ กลุ่มนายจ้างที่มีสัดส่วนร้อยละ 44.5 และกลุ่มลูกจ้างเอกชนที่มีสัดส่วนร้อยละ 38.8 ตามลำดับ โดยสัดส่วนวัยทำงาน “กลุ่มผู้ช่วยธุรกิจในครัวเรือนเป็นกลุ่มผู้ที่มีการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งน้อยที่สุดเพียงร้อยละ 26” เท่านั้น
สัดส่วนของวัยทำงานที่บริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกวันพบว่า “กลุ่มนายจ้างเป็นสัดส่วนที่ดื่มทุกวันมากที่สุด ถึงร้อยละ 6.6” รองลงมาคือกลุ่มผู้ที่ทำงานส่วนตัวมีสัดส่วนร้อยละ 4.7 และกลุ่มลูกจ้างเอกชนร้อยละ 4.1 ตามลำดับ โดยสัดส่วนที่ดื่มทุกวันน้อยที่สุด คือกลุ่มผู้ช่วยธุรกิจในครัวเรือน ที่ดื่มทุกวันร้อยละ 2.2
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนวัยทำงานอื่น ๆ ที่มีการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในสัดส่วนที่แตกต่างกันออกไป โดยคาดว่ามีปัจจัยหลายอย่างในที่ทำงานที่มีผลต่อการบริโภคแอลกอฮอล์ ดังนั้น สถานประกอบการหรือที่ทำงาน จึงควรมีนโยบายสนับสนุนในการสร้างเสริมสุขภาพทั้งร่ายกายและจิตใจให้กับคนทำงาน เพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพของคนทำงานได้มากยิ่งขึ้น
ยังมีอีกหลายบทความทางสุขภาพที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “มลพิษทางสิ่งแวดล้อม” ให้ทุกท่านได้อ่านกันใน “รายงานสุขภาพคนไทย เล่มปี 2566” หมวด 12 ตัวชี้วัด ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ อ่านฟรีได้แล้ววันนี้ ผ่านทางเว็บไซต์ได้ที่ www.thaihealthreport.com หรือติดต่อขอรับหนังสือผ่านทางอีเมลได้ที่ thaihealthipsr@gmail.com
หมายเหตุ: ปรับปรุงข้อมูลจาก รายงานสุขภาพคนไทย เล่มปี 2566 หมวด 12 ตัวชี้วัด ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ
ติดตามทุกความเคลื่อนไหว ของ “สุขภาพคนไทย”
ผ่านทางเว็บไซต์ได้ที่ www.thaihealthreport.com
Facebook : สุขภาพคนไทย
Instagram : @thaihealthreport
TikTol : @thaihealthreport (30วิสุขภาพคนไทย)