ความรอบรู้ด้านสุขภาพในระดับต่ำหรือไม่เพียงพอของประชาชน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังสูงขึ้น ส่งผลให้มีการมาใช้บริการทางการแพทย์เมื่ออาการหนักมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการไม่ทำตามคำแนะนำด้านสุขภาพ หรือ ไม่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดี
จากข่าวลัทธิ “พระบิดา” หรือการใช้น้ำหมักรักษาอย่าง “ป้าเช็ง” และ “สถิติการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่สูงขึ้น” ทำให้ประเทศไทยตระหนักแล้วว่า “จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานด้านสุขศึกษาและส่งเสริมสุขภาพให้เป็นความรู้ด้านสุขภาพ”
การตั้งเป้าหมายเพื่อเร่งพัฒนาคนไทยทุกคนให้มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ( health literate) และมุ่งเป้าให้สังคมไทยเป็นสังคมรอบรู้สุขภาพ(health literate society) เป็น “การยกระดับเป้าหมายจากการเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นการเข้าถึงชุมชน” ด้วยการสอบถามหรือค้นข้อมูลจากระบบดิจิตอล เพื่อนำมาทำให้เกิดผลลัพท์ที่ดีที่สุดในการพัฒนาชุมชนในด้านความรู้สุขภาพ
การที่บุคคลจะมีความรู้ด้านสุขภาพได้ นอกจากจะเรียนรู้และพัฒนาตนเองแล้ว ระบบต่าง ๆ ในสังคมจะต้องส่งเสริมด้วย หนึ่งในนั้นคือ “ระบบครอบครัว” ที่เป็นระบบพื้นฐานแรกเริ่มที่ทำให้เรามีการพัฒนาด้านสุขภาพ ด้วยวิธีการสอน วิธีคิดรวมไปถึงวัฒนธรรมต่าง ๆ
จนเมื่อเติบโตขึ้นมาในระดับหนึ่ง เราจะเข้าสู่ “ระบบการศึกษา” ซึ่งทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึง เข้าใจ และสามารถตัดสินใจในการนำข้อมูลไปใช้
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งระบบที่สำคัญ คือ “ระบบบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข” ซึ่งต้องจัดบริการแนวคิดความรอบรู้ด้านสุขภาพ ทั้งกลุ่มผู้ให้บริการและผู้รับบริการ
ตามแนวคิดของ Institute of medicine ได้อธิบายว่า ความรอบรู้ด้านสุขภาพเกิดจากปัจจัยหลัก 2 ส่วน คือ บุคคล และสังคม นอกจากระบบจากที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว “ผู้นำในระบบองค์กรหรือระบบสังคม” ต้องมีแบบแผนการพัฒนาที่มีเป้าหมายที่ครอบคลุมการให้ข้อมูลที่ง่าย
ดังนั้น การพัฒนาให้คนไทยมีความรอบรู้เรื่องสุขภาพด้วยวิธีการที่เข้าใจง่าย เข้าถึงชุมชน มีโครงสร้างและกลไกที่ทำให้คนในสังคมสามารถเข้าถึงข้อมูลโดยนำไปใช้ในประจำวันได้โดยง่าย จึงสำคัญเป็นอย่างมาก
ยังมีอีกหลายบทความทางสุขภาพที่น่าสนใจ ให้ทุกท่านได้อ่านกันใน “รายงานสุขภาพคนไทย เล่มปี 2566” สามารถอ่านฟรีได้แล้ววันนี้ ผ่านทางเว็บไซต์ได้ที่ www.thaihealthreport.com หรือติดต่อขอรับหนังสือผ่านทางอีเมลได้ที่ thaihealthipsr@gmail.com
ปรับปรุงข้อมูลจาก: รายงานสุขภาพคนไทย เล่มปี 2566 หมวด 10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ เรื่อง สังคมไทยกับความรอบรู้ด้านสุขภาพ หน้าที่ 68
ติดตามทุกความเคลื่อนไหว ของ “สุขภาพคนไทย”
ผ่านทางเว็บไซต์ได้ที่ www.thaihealthreport.com
Facebook : สุขภาพคนไทย
Instagram : @thaihealthreport
TikTok : @thaihealthreport (30วิสุขภาพคนไทย)