บทความสั้น
โรคเสพติดความสำเร็จภัยใกล้ตัวกระทบสุขภาพจิต
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
ตัวชี้วัดสุขภาพ | สิงหาคม 2566

ปัจจุบัน คอนเทนต์จากสื่อโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลเป็นอย่างมากในชีวิตประจำวัน หนึ่งในคอนเทนต์ที่คนไทยนิยมทำและดูกันอย่างมากคือ “คอนเทนต์ที่แสดงถึงความสำเร็จ” โดยจะผ่านขึ้นฟีดโซเชียลอยู่บ่อยครั้ง จนทำให้คนเป็น “โรคเสพติดความสำเร็จจากโซเชียลมีเดีย” ได้

หลายๆ คนที่ได้ดูคอนเทนต์ก็ลืมไปว่า จริงๆ แล้ว ชีวิตของคนเราก็ไม่ได้เจอแต่ความสำเร็จเสมอไป แต่คนส่วนมากมักจะเปิดเผยด้านความสำเร็จมากกว่าความล้มเหลวที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง เราจึงเห็นแต่คนที่มีชีวิตสมบูรณ์แบบเต็มไปหมด จนนำมาเปรียบเทียบ สร้างความกดดันและความเครียดให้กับตัวเอง เกิดเป็นปัญหาสุขภาพจิตและกลายเป็นสภาวะซึมเศร้าจนอาจรุนแรงถึงขั้นคิดทำร้ายตัวเองได้

ผลการสำรวจของกรมสุขภาพจิต (จำนวน 154,054 คน) พบว่า คนไทยที่มีอายุ 15 ปี ขึ้นไป ร้อยละ 11.5 มีระดับสุขภาพจิตที่ต่ำกว่าคนทั่วไป แต่ด้วยเรื่องความคิดที่ซับซ้อน ฮอร์โมน หรือปัญหาที่ผู้หญิงต้องพบเจอ ทำให้สัดส่วนของผู้หญิงมีความเสี่ยงทางสุขภาพจิตสูงกว่าผู้ชาย

จากรายงานการฆ่าตัวตายสำเร็จจากใบมรณะบัตรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555-2564 พบว่าช่วงวัยทำงาน ซึ่งมีอายุ 25-44 ปี เป็นช่วงวัยที่อัตราการฆ่าตัวตายถึงร้อยละ 42.9  ซึ่งจากสถิติการใช้ social media ในประเทศไทย รายงานโดย Digital Stat 2022 ระบุว่าเป็นช่วงวัยที่ใช้ social media มากที่สุด รวมกันถึงร้อยละ 71.7 เลยทีเดียว

เราต้องตระหนักถึงการป้องกันเพื่อปกป้องจิตใจของตัวเราเองให้มาก แต่เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว เราจึงต้องมองหาแนวทางการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการเข้าหาบริการทางสุขภาพจิตหรือทำ “โซเชียลดีท็อกซ์” ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งวิธีเพื่อลดการใช้โซเชียลมีเดียให้น้อยลง การสะสมความกดดันและความเครียดไว้ในตัวเราก็จะลดลงไปด้วย

ยังมีอีกหลายบทความทางสุขภาพที่น่าสนใจ ให้ทุกท่านได้อ่านกันใน “รายงานสุขภาพคนไทย เล่มปี 2566” สามารถอ่านฟรีได้แล้ววันนี้ ผ่านทางเว็บไซต์ได้ที่ www.thaihealthreport.com หรือติดต่อขอรับหนังสือผ่านทางอีเมลได้ที่ thaihealthipsr@gmail.com


หมายเหตุ: ปรับปรุงเนื้อหาจาก: รายงานสุขภาพคนไทย เล่มปี 2566 หมวดตัวชี้วัด ของ 12 ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ เรื่อง ความเสี่ยงและสุขภาพจิตในเด็ก หน้า 19

แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม:

ติดตามทุกความเคลื่อนไหว ของ “สุขภาพคนไทย”
ผ่านทางเว็บไซต์ได้ที่ www.thaihealthreport.com
Facebook : สุขภาพคนไทย
Instagram : @thaihealthreport
TikTok : @thaihealthreport (30วิสุขภาพคนไทย)

 


Related Topics :

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333