บทความสั้น
การระบาดของ โควิด-19 ในประเทศไทย ณ เดือนเมษายน 2564 : สถานการณ์ดีขึ้นหรือแย่ลง
Home / บทความสั้น

กาญจนา เทียนลาย คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | เมษายน 2564

นับแต่การระบาดของโควิด-19 ในช่วงปลายปี 2562 เป็นต้นมา การระบาดก็เกิดขึ้นไปในหลายประเทศทั่วโลก และยังไม่สามารถหยุดยั้งการระบาดได้ดีเท่าที่ควร แม้ว่าจะเริ่มมีการฉีดวัคซีนกันไปแล้ว รวมทั้งในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน

​ที่ผ่านมาประเทศไทยก็นับว่าสามารถบริหารจัดการการควบคุมโรคได้เป็นอย่างดี แต่ในช่วงราวเดือนธันวาคมของปลายปี 2563 ก็พบว่ามีการระบาดอีกระลอก และสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ในราวเดือนมีนาคม ทุกอย่างเหมือนจะไปได้ด้วยดี คนไทยเตรียมตัวรับเทศกาลสงกรานต์ที่ปีที่แล้วถูกงดไป

​แต่เหมือนฝันร้าย!! … กลับมีการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ในช่วงเดือนเมษายน 2564 “ซึ่งการระบาด 30 วัน เฉพาะวันที่ 1-30 เมษายน 2564 พบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยืนยันสะสมในประเทศรายใหม่ จำนวน 36,079 ราย[1] ซึ่งเพียงแค่ 1 เดือน แต่มากกว่าปีแล้วราว 5 เท่า โดยเป็นการระบาดทั่วประเทศ โดยกรุงเทพมหานครมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุด จำนวน 12,005 ราย ตามมาด้วย เชียงใหม่ ชลบุรี สมุททรปราการ และนนทบุรี ตามลำดับ”

ที่มา : รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดย ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน
กรมควบคุมโรค[2]

 

จากสถิติรายงานสถานการณ์ฯ ข้างต้นนี้ ได้แสดงให้เห็นว่า

​1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2563 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 6,884 ราย เสียชีวิต 61 ราย
1 มกราคม – 30 เมษายน 2564 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 65,153 ราย เสียชีวิต 203 ราย

​เห็นได้ว่าการระบาดระลอกนี้ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก รวมทั้งผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ด้วย โดยผู้ติดเชื้อส่วนหนึ่งติดเชื้อมาจากคนใกล้ตัว แม้ว่าผู้ติดเชื้อบางคนจะไม่ได้ออกจากบ้านไปตามสถานที่สุ่มเสี่ยงเลยก็ตาม

​นอกจากนี้ พบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเดือนเมษายน 2564 นี้ มีเจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขติดเชื้อรวม 182 ราย มากที่สุดในกรุงเทพมหานคร 71 ราย ส่งผลให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขต้องถูกกักกันโรคในสถานพยาบาลหลายแห่ง จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขในบ้านเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการปกปิดข้อมูล หรือไม่ทราบประวัติเสี่ยง เป็นต้น

​จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในเดือนเมษายน 2564 นี้ ก็ยังจะเดาทางได้ยาก ว่าสถานการณ์ข้างหน้าจะคลี่คลายไปในทางบวกได้หรือไม่ #หากคนไทยยังยกการ์ดสูง #หากรัฐบาลเร่งจัดหาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ให้มีปริมาณที่เพียงพอกับประชากรในประเทศ และสามารถ #กระจายการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรทุกเพศทุกวัยอย่างเป็นธรรม

​ขอจบเรื่องราวไว้เพียงเท่านี้ก่อน แล้วจะมาเล่าสู่กันฟังในครั้งต่อๆ ไป


[1] https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/file/scoreboard/scoreboard_04052564.pdf

[2] https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/file/situation/situation-no483-300464.pdf


Related Topics : โควิด

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333