“ครอบครัว” ถือเป็นสถาบันที่เล็กที่สุด และเป็นรากฐานที่สำคัญของสังคม หากสมาชิกในครอบครัวมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน รู้จักบทบาทหน้าที่ รับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง และพึ่งตนเองได้ จะส่งผลถึงความอยู่ดีมีสุข และช่วยเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีของคนในครอบครัว
โครงสร้างของครอบครัวมีผลต่อความขัดแย้งทางความคิดของสมาชิกในครอบครัว จากการสำรวจเยาวชนไทย ปี 2565 พบว่า เยาวชนที่อยู่ในครอบครัวข้ามรุ่น จะมีความขัดแย้งทางความคิดในประเด็นต่าง ๆ มากกว่าเยาวชนที่อยู่กับพ่อแม่ หรือเยาวชนที่อยู่กับพ่อแม่และญาติ
จากการสำรวจเยาวชนไทย ปี 2565 พบว่าประเด็นที่ขัดแย้งทางความคิดของเยาวชนไทยในครอบครัวข้ามรุ่น คือ ประเด็นการศึกษาและการทำงาน สูงถึงร้อยละ 16.7 รองลงมาเป็นการใช้ชีวิตประจำวัน ร้อยละ 13.6 ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ร้อยละ 12 และความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือคนรัก ร้อยละ 8.7
เป็นที่น่าสังเกตว่า เยาวชนที่อาศัยอยู่กับพ่อและแม่ ที่พบว่า มีสัดส่วนความคิดเห็นขัดแย้งกับคนในครอบครัว สูงกว่าเยาวชนที่อาศัยอยู่ในครอบครัวสามรุ่น และอาศัยอยู่ในครอบครัวข้ามรุ่นอย่างชัดเจน คือ “ประเด็นสังคมและการเมือง” สูงถึงที่ร้อยละ 11 และ “ประเด็นศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม” อยู่ที่ร้อยละ 6.3 ซึ่ง
จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า “ความคิดขัดแย้ง” กับคนในครอบครัว ของกลุ่มเยาวชน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในทุกครอบครัว เพียงแต่มากน้อยแตกต่างกันไปตามประเด็นต่าง ๆ สิ่งสำคัญที่สถาบันครอบครัว ต้องเฝ้าระวังเลยก็คือ “การไม่ให้ความคิดเห็นที่ขัดแย้ง” เปลี่ยนแปลงกลายไปเป็น “ความรุนแรงในครอบครัว” ทุกคนในครอบครัว ควรรับฟัง และเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เลือกฟังอย่างมีวิจารณญาณ ถกเถียงอย่างมีเหตุผล เพื่อสุขภาพที่จิตที่ดีของทุกคนในครอบครัว
ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “สภาพแวดล้อมครอบครัว” ตามมาอ่านได้ที่ “รายงานสุขภาพคนไทย เล่มปี 2566” จาก 12 หมวดตัวชี้วัด “ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ” อ่านฟรีได้แล้ววันนี้ผ่านทางเว็บไซต์ได้ที่ www.thaihealthreport.com หรือ ติดต่อขอรับหนังสือผ่านทางอีเมลได้ที่ thaihealthipsr@gmail.com
หมายเหตุ: ปรับปรุงข้อมูลจาก รายงานสุขภาพคนไทย เล่มปี 2566
12 หมวดตัวชี้วัด ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (หน้าที่ 22-23)
ติดตามทุกความเคลื่อนไหว ของ “สุขภาพคนไทย”
ผ่านทางเว็บไซต์ได้ที่ www.thaihealthreport.com
Facebook : สุขภาพคนไทย
Instagram : @thaihealthreport
TikTol : @thaihealthreport (30วิสุขภาพคนไทย)