บทความสั้น
“ทางข้าม” ที่ไม่ควร “มองข้าม” เปิดความปลอดภัยบนทางม้าลายของคนไทย
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | พฤษภาคม 2566

นับครั้งไม่ถ้วนกับ “การเกิดอุบัติเหตุบนทางม้าลาย” ที่พรากชีวิตคนข้ามถนนไปหลายร้อยคนต่อปี และที่เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด ได้แก่กรณีของ “คุณหมอกระต่าย” จักษุแพทย์หญิงวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หลังถูกรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์พุ่งชนจนเสียชีวิต ขณะกำลังข้ามถนนบนทางม้าลายบริเวณถนนพญาไท

เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างผลกระทบทางจิตใจให้กับประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก สังคมไทยได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับ “ความปลอดภัยบนทางม้าลาย” ว่าเหตุใดเราจึงพบเห็นเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว เป็นข่าวครึกโครมเป็นระยะ ๆ และเหตุใดปัญหาเชิงโครงสร้างของการจัดการเพื่อลดอุบัติเหตุของคนเดินเท้ายังไม่ได้รับการแก้ไข

รู้หรือไม่ ? ประเทศไทยมี “ผู้เสียชีวิตขณะข้ามถนน ประมาณ 400 คนต่อปี”  หรือ “เฉลี่ยวันละประมาณ 1คน” โดยคู่กรณีมากกว่าครึ่งคือ “รถจักรยานยนต์” รองลงมาคือ “รถยนต์ส่วนบุคคล” และ “รถบรรทุก” ข้อจำกัดทางกายภาพของมนุษย์ในเรื่องการคาดการณ์การชน และทัศนวิสัยทางกายภาพของถนน เป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ

แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายในการกำหนดบทลงโทษชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการไม่หยุดให้คนข้ามถนนในทางม้าลาย ซึ่งมีการปรับเพิ่มโทษ (เมื่อเดือนกันยายน 2565) จากเดิม 1,000 บาท เป็น 4,000 บาท และเพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่น เป็นจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการเดินเท้าและข้ามถนนก็ยังไม่มีแนวโน้มลดลง

การเร่งสร้างความปลอดภัยบนทางม้าลายและคนเดินเท้าในไทย จึงเป็นแนวทางเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา โดยมีวิธีป้องกัน 3 แนวทาง ได้แก่ 1) การจัดการในเชิงกายภาพ 2) การบังคับใช้กฎหมายในระยะสั้นและระยะยาว และ 3) การสร้างกระแสสังคมและการสร้างการรับรู้ โดยทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันเพื่อเร่งสร้างความปลอดภัย ปิดช่องว่างความเสี่ยง และลดความสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุบนทางม้าลาย ก่อนที่จะสายไปมากกว่านี้

ยังมีอีกหลายบทความที่น่าสนใจ เกี่ยวกับ “ความปลอดภัยบนทางม้าลายและคนเดินเท้า” ตามมาอ่านต่อได้ที่ “รายงานสุขภาพคนไทย เล่มปี 2566” หมวด 10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ โดยสามารถอ่านแบบออนไลน์ได้แล้ววันนี้ ผ่านทางเว็บไซต์ได้ที่ www.thaihealthreport.com หรือติดต่อขอรับหนังสือผ่านทางอีเมลได้ที่ thaihealthipsr@gmail.com


หมายเหตุ: ปรับปรุงเนื้อหาจาก เล่มรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2566 หมวด 10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ (หน้าที่ 45-50)

ติดตามทุกความเคลื่อนไหว ของ ‘สุขภาพคนไทย’
ได้ที่ www.thaihealthreport.com
Facebook : สุขภาพคนไทย
Instagram : thaihealthreport
TikTok : @thaihealthreport

 

 


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333