บทความสั้น
เพิ่ม “กิจกรรมทางกาย” ลดความเสี่ยง “ป่วยโรคเรื้อรัง”
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
ตัวชี้วัดสุขภาพ | พฤษภาคม 2566

ท่ามกลางอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น จากภาวะ “โลกรวน” เราพบเห็นคนจำนวนไม่น้อย เสียชีวิตจาก “ฮีทสโตรก” บางคนเกิดอาการวูบ หน้ามืด หมดสติ ซึ่งเป็นผลมาจากการพักผ่อนน้อย หรือมีปัญหาสุขภาพส่วนตัว และอาการมักจะรุนแรงมาก หากเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง และลดความรุนแรงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาวได้

กิจกรรมทางกาย หมายถึง การเคลื่อนไหวตลอดทั้งวัน ทั้งการทำงาน การเดินทาง และนันทนาการ ตลอดจนการออกกำลังกาย โดยมีข้อแนะนำให้มีการมีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางถึงหนักให้เพียงพออย่างต่อเนื่องเพื่อสุขภาพร่างกายที่ดี เนื่องจากการมีกิจกรรมทางกายเพียงพอ สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable Diseases : NCD) ได้

จากการสำรวจปี 2564 พบว่า กลุ่มประชากรที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ตรวจพบโรคไม่ติดต่อเรื้อรังน้อยกว่ากลุ่มประชากรที่มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ เช่น ผู้มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ตรวจพบการเป็นความดันโลหิตสูงอยู่ที่ร้อยละ 23.4 แต่ผู้ที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ตรวจพบเพียงแค่ร้อยละ 18.4 เป็นต้น

จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า “การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ” เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพราะฉะนั้นการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้เพียงพอในทุกเพศและทุกวัย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในระยะยาว เพื่อให้ห่างไกลจากโรค และลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยรุนแรง จากการเกิดปัญหาทางสุขภาพในอนาคต

ยังมีอีกหลายบทความที่น่าสนใจ เกี่ยวกับ “การมีกิจกรรมทางกาย” ตามมาอ่านต่อได้ที่ รายงานสุขภาพคนไทย เล่มปี 2566 “หมวด 12 ตัวชี้วัด ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ” สามารถอ่านออนไลน์ได้แล้ววันนี้ ผ่านทางเว็บไซต์ได้ที่ www.thaihealthreport.com หรือติดต่อขอรับหนังสือผ่านทางอีเมลได้ที่ thaihealthipsr@gmail.com


ติดตามทุกความเคลื่อนไหว ของ ‘สุขภาพคนไทย’
ได้ที่ www.thaihealthreport.com
Facebook : สุขภาพคนไทย
Instagram : thaihealthreport
TikTok : @thaihealthreport

 

 


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333