บทความสั้น
แชร์ทริค!! รู้เท่าทัน “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ในประเทศไทย
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | พฤษภาคม 2566

“สวัสดีค่ะ คุณมีพัสดุตกค้าง กรุณา กด 1 เพื่อติดต่อกับเจ้าหน้าที่” นี่เป็นเพียงแค่หนึ่งอุบายของ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ที่ใช้วิธีนี้ในการฉ้อโกงผ่านทางสมาร์ทโฟน มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ตกเป็นเหยื่อ และสูญเสียเงินจากการถูกหลอกลวง ดังนั้น การรู้เท่าทัน “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ในประเทศไทย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราทุกคนควรรู้เท่าทัน

ปัจจุบันคนไทยใช้สมาร์ทโฟนเป็นส่วนสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร การทำงาน การเรียนการสอน การสั่งซื้อสินค้า การทำธุรกรรมทางการเงิน รวมไปถึงการเข้ารับบริการทางการแพทย์ ในขณะเดียวกัน  กลุ่มมิจฉาชีพอย่าง “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ได้พัฒนากลโกง และรูปแบบการหลอกลวงใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา และสิ่งที่น่าเหลือเชื่อก็คือ “มูลค่าการฉ้อโกงธุรกรรมการชำระเงินในประเทศไทย” มีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ

“แก๊งคอลเซ็นเตอร์” เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่หากินกับความตื่นกลัว และความโลภ โดยใช้เทคนิคในการสร้างความสัมพันธ์กับเหยื่อหรือผู้เสียหายก่อนหลอกลวง โครงสร้างของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จะมีนายทุนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ มีทีมงาน แบ่งเป็นแผนกต่าง ๆ อย่างชัดเจน ตั้งแต่ขั้นตอนของการสร้างเรื่องสร้างราว การเขียนสคริปต์และบทพูด การใช้จิตวิทยาในการวิเคราะห์พฤติกรรมของเหยื่อ เทรนนิ่งฝึกวิธีการพูดเพื่อหลอกลวง การหาเหยื่อเพื่อมาเข้าร่วมทีม และการหาบัญชีม้า

“แก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศไทย” เข้ามาระบาดกว้างขวางในไทย ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา และขยายตัวอย่างรวดเร็วจนถึงปัจจุบัน โดยเหยื่อมักจะเป็นผู้สูงอายุ ข้าราชการเกษียณที่มีเงินเก็บสะสม และผู้หญิงที่มักตื่นกลัวกับกลลวงฉ้อกลของคนร้าย ข้อมูลจากศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หรือ ตำรวจไซเบอร์ ได้สรุปรูปแบบการหลอกลวงออนไลน์ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ไว้ 18 รูปแบบ ดังนี้

1.) การหลอกขายสินค้าออนไลน์ 2.) การหลอกให้ทำงานเสริมออนไลน์ 3.) เงินกู้ออนไลน์4.) การข่มขู่ให้เกิดความกลัว 5.) การหลอกลวงให้ลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ 6.) การหลอกให้รักแล้วลงทุน 7.) การหลอกให้รักแล้วโอนเงิน 8.) การปลอม หรือ Hack บัญชี เพื่อหลอกยืมเงิน 9.) การแชร์ลูกโซ่ 10.) การพนันออนไลน์ 11.) การหลอกให้โหลดโปรแกรม 12.) การส่ง QR Code หลอกให้โอนเงิน 13.) การฉ้อโกงรูปแบบอื่น ๆ 14.) การโฆษณาเชิญชวนไปทำงานต่างประเทศ 15.) การหลอกลวงให้ถ่ายภาพโป๊เปลือย 16.) การยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีม้า 17.) การส่งข่าวปลอม หรือ Fake News 18.) การเรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์ หรือ Ransomware

จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” มีรูปแบบการหลอกลวงทางออนไลน์ที่หลากหลายมาก หากคุณไม่อยากตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตามมาอ่านต่อได้ที่ “รายงานสุขภาพคนไทย เล่มปี 2566” หมวด 10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ โดยสามารถอ่านแบบออนไลน์ ผ่านทางเว็บไซต์ได้ที่ www.thaihealthreport.com หรือติดต่อขอรับหนังสือทางอีเมล์ได้ที่ thaihealthipsr@gmail.com


ติดตามทุกความเคลื่อนไหว ของ ‘สุขภาพคนไทย’
ได้ที่ www.thaihealthreport.com
Facebook : สุขภาพคนไทย
Instagram : thaihealthreport
TikTok : @thaihealthreport

ปรับปรุงเนื้อหาจาก เล่มรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2566  หมวด 10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ (หน้าที่ 74 – 79)


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333