บทความสั้น
ติดตามการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ชนิดกลายพันธุ์
Home / บทความสั้น

กัญญาพัชร สุทธิเกษม คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
เรื่องพิเศษ | พฤษภาคม 2564

สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศพัฒนาแล้วเริ่มทุเลาลง เนื่องจากความสำเร็จในการแจกจ่ายวัคซีนให้กับประชาชน แต่สำหรับหลายประเทศที่ได้รับวัคซีนไม่เพียงพอยังคงมีการระบาดไม่ลดละ กระทั่งมีการเปิดเผยเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งส่งผลกระทบไม่เฉพาะแต่ประเทศที่เกิดการระบาดเท่านั้น แต่ยังเป็นความท้าทายของทั่วโลกในการกำหนดมาตรการควบคุมและตอบโต้เชื้อไวรัสดังกล่าวรวมทั้งการวินิจฉัยโรค การรักษา และการคิดค้นพัฒนาวัคซีน เพื่อลดความสูญเสียอันเกิดจากการแพร่ระบาดต่อไป


ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ได้จัดกลุ่มเพื่อจำแนกสายพันธุ์ของโควิด-19 เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่


กลุ่ม 1 สายพันธุ์ที่น่าจับตา (Variants of Interest: VOI)[1] ซึ่งค้นพบการกลายพันธุ์ตั้งแต่ปี 2563 มี 8 สายพันธุ์ เป็นกลุ่มที่คาดว่ามีการแพร่กระจายของเชื้ออย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการวินิจฉัยโรค และการหลบหลีกภาวะภูมิต้านทานของร่างกาย (immune escape)[2]  ยกตัวอย่าง สายพันธุ์ B.1.525 พบการระบาดครั้งแรกในสหราชอาณาจักร และไนจีเรีย เมื่อเดือนธันวาคม 2563 (2020) สายพันธุ์ B.1.526 พบครั้งแรกที่นิวยอร์ก เดือนพฤศจิกายน 2563 สายพันธุ์ B.1.617 พบครั้งแรกในอินเดียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงถึงความกังวลต่อการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัส   โควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย B.1.617 ต่อมาในช่วงปลายเดือนเมษายน 2564 WHO เปิดเผยว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียดังกล่าวได้แพร่ระบาดไปแล้วกว่า 20 ประเทศทั่วโลก อาทิ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ออสเตรเลีย บาห์เรน นิวซีแลนด์ เยอรมนี อิสราเอล ไอร์แลนด์ เกาหลีใต้ โปรตุเกส เบลเยียม สวิตเซอร์แลนด์ กรีซ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย[3] สำหรับประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานว่า คนไทย 2 คนซึ่งเดินทางกลับจากประเทศปากีสถาน ติดเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์อินเดีย B.1.617.1[4] ซึ่งระบาดครั้งแรกในอินเดียตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 เป็นต้นมา เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์จากอินเดีย หลายประเทศจึงกำหนดมาตรการป้องกันอย่างเต็มที่ เช่น สหราชอาณาจักรประกาศขึ้นบัญชีอินเดียในกลุ่มประเทศสีแดง ทำให้ผู้ที่เดินทางจากอินเดียไม่สามารถเข้าสู่ประเทศอังกฤษได้  นิวซีแลนด์กำหนดให้อินเดียเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงโรคโควิด-19 สูงอย่างมาก โดยผู้เดินทางจากอินเดียจะถูกจำกัดให้สามารถเข้าประเทศได้เฉพาะผู้ที่เป็นพลเมืองของนิวซีแลนด์เท่านั้น ออสเตรเลียประกาศห้ามเที่ยวบินตรงจากอินเดียเดินทางเข้าประเทศเป็นการชั่วคราว เช่นเดียวกับมาเลเซีย ส่วนไทย ให้ผู้ที่มาจากอินเดียและจะเข้าไทยได้ มีเพียงผู้ที่ถือสัญชาติไทยเท่านั้น[5]  เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบสายพันธุ์ B.1.617.2 ซึ่งพบในอินเดียเมื่อเดือนธันวาคม 2563 และ B.1.617.3 พบเมื่อเดือนตุลาคม 2563 สายพันธุ์ P.2 ซึ่งพบในบราซิลตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ก็ยังคงเป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่ยังต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป


กลุ่ม 2 สายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วง (Variant of Concern: VOC) เป็นสายพันธุ์ที่ระบาดรวดเร็ว มีความรุนแรงของโรคสูง เช่น เพิ่มอัตราตายสูงขึ้น ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลงอย่างมีนัยสำคัญระหว่างการติดเชื้อหรือรับวัคซีนประสิทธิภาพของการรักษาหรือวัคซีนลดลงหรือทำให้การตรวจวินิจฉัยล้มเหลว ดังนั้นการจัดการเชื้อไวรัสโควิด-19สายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วงนี้ ต้องใช้หลายวิธีและทำทุกระดับตั้งแต่ระดับนานาชาติ ระดับชาติ ไปจนถึงท้องถิ่น โดยอยู่บนฐานของความเข้าใจลักษณะของเชื้อที่กลายพันธุ์ จากข้อมูลของ CDC พบว่าสายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วงมี 5 สายพันธุ์ ได้แก่ B.1.1.7 พบในสหราชอาณาจักรเมื่อเดือนกันยายน 2563 สายพันธุ์ B.1.351 พบในแอฟริกาใต้ เดือนกันยายน 2563 สายพันธุ์ B.1.427 และ B.1.429 พบในสหรัฐอเมริกา (แคลิฟอร์เนีย) ในเดือนกันยายน 2563 และสายพันธุ์ P.1 พบในญี่ปุ่นและบราซิล เมื่อเดือนธันวาคม 2563

 

ความกังวลของนักวิทยาศาสตร์ คือการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นอาจเพิ่มโอกาสที่ทำให้วัคซีนที่คิดค้นได้ในปัจจุบัน ใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป กรณีการระบาดของโควิด-19 ในอินเดีย จึงน่าจับตามองอย่างยิ่ง เพราะไม่ใช่ผลกระทบเฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่หากยังไม่สามารถควบคุมผู้ติดเชื้อจำนวนวันละกว่าแสนคนได้ อาจทำให้การกลายพันธุ์ดำเนินต่อไป และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปสู่ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกได้ ขณะที่การให้วัคซีนในอินเดียเป็นไปอย่างล่าช้า โดยมีประชากรไม่ถึง 10% ที่ได้รับวัคซีนโดสแรก และ 2% เท่านั้นที่ได้รับวัคซีนครบสองโดส แม้ว่าอินเดียจะเป็นประเทศผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ก็ตาม[6]
     

[1]  https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/variants/variant-info.html#Interest
[2]  อ้างแล้ว
[3]  https://www.infoquest.co.th/2021/83828
[4]  https://www.bbc.com/thai/thailand-57053772
[5]  https://www.infoquest.co.th/2021/83828
[6]  https://www.bbc.com/thai/international-56912156

ภาพประกอบ www.freepik.com


Related Topics : โควิด

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333