ปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่นไทย เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง และได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด เรามักพบเห็นข่าวอาชญากรรมในสังคมไทย และบ่อยครั้งเป็นเหตุการณ์สลดที่เกิดขึ้นจากการใช้ความรุนแรงของคู่รักวัยรุ่น นำไปสู่การสูญเสีย และเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในสังคม เมื่อ “ความรัก” มาพร้อมกับ “ความรุนแรง” การรู้เท่าทันปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่นไทย และวิธีการแก้ปัญหาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรทราบ
วัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่สำคัญของชีวิต เนื่องจากเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงของสังคม สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว ส่งผลทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่นไทย โดยมีสาเหตุหลักเกิดจาก “ความเครียด” บางครั้งหากไม่สามารถปรับตัวให้เผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ และมีความเครียดสะสมในระดับที่มากเกินไป จะส่งผลกระทบทางด้านลบต่อปัญหาสุขภาพกาย ได้แก่ นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดท้อง ปวดหลัง ใจสั่น และส่งผลต่อสุขภาพจิต ได้แก่ หงุดหงิด โกรธง่าย เบื่อหน่าย คิดมาก วิตกกังวล เศร้าหมอง ไม่มีสมาธิ รวมทั้งทางพฤติกรรม ได้แก่ เงียบขรึม เก็บตัว สูบบุหรี่หรือดื่มสุรามากขึ้น ชวนทะเลาะ มีเรื่องขัดแย้งกับผู้อื่นบ่อยๆ อาจใช้สารเสพติด หากวัยรุ่นมีภาวะเครียดรุนแรงมากยิ่งขึ้น อาจถึงขั้นเกิดภาวะซึมเศร้า หรือเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้
สอดคล้องกับผลการให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตทางโทรศัพท์สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ในปีงบประมาณ 2562 จากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ พบว่า มีวัยรุ่นอายุ 11-19 ปี โทรมาขอรับบริการปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต ประมาณ 10,000 สาย ปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่นไทยที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ “ความเครียด และวิตกกังวล” พบเป็นอับดับที่ 1 ร้อยละ 51.4 รองลงมาคือ “ปัญหาความรัก” ร้อยละ 21.4 และสุดท้ายคือ “ภาวะซึมเศร้า” พบร้อยละ 9.8
จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า “ปัญหาความรัก” จัดอยู่ในกลุ่มปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่นไทย ที่พบได้มากที่สุดเป็น 3 อันดับแรก หลายครั้งเรามักพบเห็นคู่รักวัยรุ่นใช้ “ความรุนแรง” ในการแก้ไขปัญหา และนำไปสู่การเกิดปัญหาอาชญากรรมในสังคม และนำมาซึ่งความสูญเสีย ดังนั้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันความเครียด และลดการใช้ความรุนแรงในวัยรุ่นตั้งแต่ในระยะแรกเริ่มนั้น จะมีส่วนช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้
กรมสุขภาพจิต ได้ให้คำแนะนำเรื่อง “วิธีการจัดการกับความเครียดที่เหมาะสมสำหรับวัยรุ่น” ไว้ดังนี้ 1.) ฝึกแก้ปัญหา ให้มุ่งจัดการปัญหาเป็นลำดับแรกก่อนที่จะรู้สึกเครียดมากเกินไป สร้างความคิดเชิงบวก และมองเห็นข้อดีของตนเอง 2.) ฝึกผ่อนคลายความตึงเครียด เช่น การฝึกสมาธิ การจินตนาการถึงบรรยากาศที่ทำให้เกิดความสุข การฟังเพลง ออกกำลังกาย ท่องเที่ยว เล่นดนตรี รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และการใช้สารเสพติดทุกชนิด 3.) การใช้เทคโนโลยีในการดูแลความเครียด เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยรับมือและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาได้ในอนาคต โดยในปัจจุบันมีการใช้ Mobile Application เข้ามาช่วยในการดูแลความเครียดของวัยรุ่น เช่น แอปพลิเคชัน Mental health Check Up 6 Packages ช่วยประเมินความเครียดเบื้องต้น และคัดกรองความเสี่ยงต่อปัญหาความเครียดที่วัยรุ่นสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็ว
ติดตามทุกความเคลื่อนไหว ของ ‘สุขภาพคนไทย’
ได้ที่ www.thaihealthreport.com
Facebook : สุขภาพคนไทย
Instagram : thaihealthreport
TikTok : @thaihealthreport
ปรับปรุงเนื้อหาจาก: รายงานสุขภาพคนไทย เล่มปี 2563 (หมวดตัวชี้วัด) หน้าที่ 12 - 13
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม: