ปัจจุบันนี้ “กิจกรรมทางกาย” ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนใน “วัยทำงาน” ที่มีวิถีชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในที่ทำงาน และมีการเคลื่อนไหวร่างกายที่น้อย ทำให้มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ และอาจส่งผลให้เกิดปัญหาทางสุขภาพตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งน้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐาน การเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรค NCDs โดยเราสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงเหล่านี้ลงได้ง่ายๆ ด้วยการมีกิจกรรมทางกาย
กิจกรรมทางกาย (Physical Activity) คือ การขยับเคลื่อนไหวร่างกายทั้งหมดในชีวิตประจำวันในอิริยาบถต่างๆ ทำให้เกิดการใช้และเผาผลาญพลังงาน การเคลื่อนไหวร่างกายทั้งหมด โดยกิจกรรมทางกายที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้ คือ “การเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ”
ผลสำรวจจาก ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สำรวจร้อยละของเหตุผลที่ประชาชนเลือกมีกิจกรรมทางกายด้วยการเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ ปี 2561 พบว่า มากกว่าร้อยละ 37.6 “อยากมีสุขภาพแข็งแรง หรือป้องกันอาการเจ็บป่วย” รองลงมาคือ “สะดวก หาพื้นที่ได้ง่าย หรือมีพื้นที่ใกล้บ้าน” อยู่ที่ร้อยละ 26.7 และไม่น้อยกว่า ร้อยละ 15.7 “ต้องการลดน้ำหนัก”
จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าสาเหตุหลักของประชาชนที่เลือกมีกิจกรรมทางกาย ด้วยการเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ ล้วนต้องการให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย แต่ก็ยังมีอีกหลายเหตุผล เช่น ต้องการมีรูปร่างที่สวยงาม, ผ่อนคลายความเครียด, ตรงกับความชอบและรสนิยม, ต้องการพิชิตเป้าหมายหรือเอาชนะตนเอง, หรือวิ่งตามกระแส เป็นต้น
ทุกวันนี้ภาพของนักวิ่งเพื่อสุขภาพตามสวนสาธารณะ บริเวณที่โล่ง ถนนในหมู่บ้าน หรือโรงยิม ที่เราต่างพบเห็นเหล่านักวิ่งออกมาทำกิจกรรมทางกาย ด้วยการเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ ในยามเช้า หรือตอนเย็นหลังเลิกงาน กลายเป็นภาพที่คุ้นตาสำหรับบ้านเรา ประชาชนจำนวนไม่น้อยหยิบรองเท้าออกมาวิ่งเพื่อสุขภาพ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่ชีวิตใหม่ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคในกลุ่ม Non-Communicable Diseases (NCDs) รวมไปถึงโรคอ้วน ก็ได้ลดลงไปด้วย นอกจากนี้ยังอาจจะช่วยส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมและธุรกิจทางด้านกีฬาอีกด้วย
ติดตามทุกความเคลื่อนไหว ของ ‘สุขภาพคนไทย’
ได้ที่ www.thaihealthreport.com
Facebook : สุขภาพคนไทย
Instagram : thaihealthreport
TikTok : @thaihealthreport
ปรับปรุงเนื้อหาจาก: รายงานสุขภาพคนไทย เล่มปี 2563 (หมวด 10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ) หน้าที่ 79 – 82
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม:
กองกิจกรรมทางกายวัยทำงาน กรมอนามัย. (2562). รอบรู้…สุขภาพวัยทำงาน. https://dopah.anamai.moph.go.th/web-upload/8x6b2a6a0c1fbe85a9c274e6419fdd6071/tinymce/KPI2564/KPI119/25640111922.pdf .