บทความสั้น
หมอกจาง ๆ และ ควัน อะไรกันที่ทำให้เกิด PM2.5 ? ถอดบทเรียนปัญหาหมอกควันและไฟป่าในภาคเหนือ
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | เมษายน 2566

“หมอกจางๆ และควัน คล้ายกันจนบางทีไม่อาจรู้” อยากจะถามดูว่าที่เราเจออยู่คือ “หมอก” หรือ “ฝุ่นควัน” หายใจโล่งปอดกันได้ไม่นาน ฝุ่น PM2.5 ก็กลับมาวิกฤตอีกครั้ง โดยเฉพาะทางภาคเหนือของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดเชียงราย, เชียงใหม่, ลำปาง, แม่ฮ่องสอน, น่าน, แพร่, และพะเยา พบค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

ปัญหาหมอกควันและไฟป่าในภาคเหนือ มักเกินขึ้นในฤดูแล้ง ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่สภาพอากาศนิ่ง เนื่องจากความกดอากาศสูง ทำให้การระบายอากาศในแนวดิ่งน้อย ฝุ่นละเอียดขนาดเล็กจึงแขวนลอย ไม่ถูกพัดพาขึ้นสู่บรรยากาศระดับสูงขึ้นไป เกิดความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศ สาเหตุมาจากการเผาในที่โล่งเป็นหลัก แบ่งออกเป็น 3 สาเหตุย่อย ได้แก่ 1) การเกิดไฟป่า 2) การเผาเศษวัชพืชและวัสดุทางการเกษตรจากกิจกรรมการปลูกข้าวโพด และ 3) การเผาเศษวัชพืชและวัสดุทางการเกษตรจากกิจกรรมการปลูกไร่หมุนเวียน

ข้อมูลล่าสุดจากรายงานสถานการณ์และคุณภาพอากาศประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 เวลา 11.00น. ระบุว่า สถานการณ์คุณภาพอากาศพื้นที่ภาคเหนือ มีคุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลาง ถึง มีผลกระทบต่อสุขภาพ สารมลพิษทางอากาศที่ตรวจพบเกินมาตรฐาน ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ตรวจพบค่าระหว่าง 47 – 513 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) 

โดยพื้นที่วิกฤตที่สุดอยู่ที่ ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย พบค่าฝุ่น PM2.5 สูงมากถึง 513 และ 407 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) ตามลำดับ ฝุ่น PM2.5 ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ ที่ทางภาครัฐต้องเร่งดำเนินการแก้ไขอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อลดผลกระทบและความเสี่ยงทางสุขภาพของประชาชนที่อาจเกิดขึ้นตามมาในอนาคต

ถอดบทเรียนปัญหาหมอกควันและไฟป่าในภาคเหนือ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์กับกรณีเคสของ “คุณหมอกฤตไท ธนสมบัติกุล” อาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้ออกมาเขียนบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองในวัย 28 ปี ผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ “สู้ดิวะ” 

“คุณหมอกฤตไท ธนสมบัติกุล” ได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่กับการเรียน และการทำงานที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อีกทั้งยังได้มีการเรียนต่อปริญญาโท และเรียนต่อเฉพาะทางอีกหลายด้าน โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คุณหมอกฤตไท ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการใช้ชีวิตของตนเอง ทั้งในเรื่องการรับประทานอาหาร การนอนหลับ และการออกกำลังกาย รวมถึงมีการวางแผนชีวิตในอนาคตไว้ได้อย่างงดงาม แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อคุณหมอตรวจพบ “มะเร็งปอดระยะสุดท้าย”

เรื่องราวของคุณหมอกฤตไท ได้สร้างความตระหนักต่อสังคมไทย อีกทั้งกระตุ้นหน่วยงานของรัฐให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศที่เกินมาตรฐานในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งสาเหตุหลักของปัญหาดังกล่าวมาจาก “การเผาป่า” ปฏิเสธไม่ได้ว่า “กรรมพันธุ์” มีส่วนที่ทำให้เกิดเซลล์มะเร็งได้ แต่สิ่งแวดล้อมที่ดี และอากาศที่บริสุทธิ์ ก็มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงหรือชะลอการเกิดโรคมะเร็งปอดได้เช่นกัน

ปัญหาหมอกควันและไฟป่า รวมถึง PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ จึงเป็นอีกปัญหาใหญ่ที่ทางภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขอย่างเร็วที่สุด ที่ผ่านมาได้มีการกำหนดมาตรการ “ห้ามเผา” ในแต่ละจังหวัด แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายยังไม่เข้มงวด ประชาชนในพื้นที่จึงต้องป้องกันตนเองจากมลพิษทางอากาศ ด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัย หรือติดตั้งเครื่องฟอกอากาศเบื้องต้นไปก่อน

ปรับปรุงเนื้อหาจาก: รายงานสุขภาพคนไทย เล่มปี 2564 (หมวด 10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ) หน้าที่ 58 – 65


แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม: 


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333