เวลาผ่านไปไม่นาน เราก็เดินทางมาถึง “ไตรมาสที่ 2” ของปี 2566 กันแล้ว ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ หลายธุรกิจทยอยฟื้นตัว แต่ก็ยังไม่สามารถเติบโตได้เต็มศักยภาพ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2563 – 2565 ที่ผ่านมา รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ (Stagflation) ส่งผลกระทบต่ออัตราการว่างงานในประเทศไทย ทำให้จำนวนและอัตราการว่างงานรายไตรมาสของประชากรไทยมีความผันผวนสูงในตลาดแรงงานไทย
โดยจำนวนและอัตราการว่างงานรายไตรมาสที่สูงที่สุด ระหว่างปี 2563 – 2564 อยู่ที่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 โดยพบว่า มีผู้ว่างงานสูงถึงราว 9. แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 2.3 ของกำลังแรงงานรวม จะเห็นได้ชัดว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อชีวิตการทำงานของคนไทยอย่างไม่เท่าเทียม โดยจะเห็นได้ว่า คนตกงานเป็นแรงงานไร้ฝีมือ หรือแรงงานนอกระบบ เป็นกลุ่มที่ไม่มีอำนาจต่อรองหรือความคุ้มครองใดๆ
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สำรวจภาวะการทำงานของประชากรรายไตรมาสตลอดปี 2565 โดยในไตรมาสที่ 4 พบว่า มีผู้ว่างงานประมาณ 5 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวม เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ผู้ว่างงานมีจำนวนลดลง 1.99 แสนคน ลดจาก 6.6 แสนคน เหลือ 4.6 แสนคน
จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าอัตราการว่างงานของประชากรไทย มีแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการความรุนแรงของโควิด-19 ที่ในปัจจุบันการแพร่ระบาดลดลงเป็นอย่างมาก จนกลายเป็นโรคประจำถิ่น นำมาซึ่งการผ่อนคลายมาตรการทางสังคม และการฟื้นตัวของธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม ส่งผลให้ตลาดแรงงานในประเทศไทยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
แม้สถานการณ์จำนวนและอัตราการว่างงานในประเทศไทย จะมีแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ยังเป็นที่น่ากังวลก็คือ “ภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ” รายงานล่าสุดจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization - ILO) ได้มีการออกมาเตือนว่า “ภาพรวมเศรษฐกิจโลกของปีนี้และปีหน้าดูไม่สู้ดีนัก และสภาพเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลกดังเช่นในปัจจุบันจะบีบให้คนงานนับล้านต้องยอมรับงานที่จ่ายค่าแรงแย่และมีคุณภาพที่ต่ำ”
โดยภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ เกิดขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งทั่วโลก การขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอลง ภาพรวมของตลาดแรงงานโลกดูไม่ค่อยสดใสมากนัก ในประเทศไทย แม้จำนวนและอัตราการว่างงาน รายไตรมาส ตลอดปี 2565 จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คนไทยต้องเฝ้าระวัง และเตรียมรับมือให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานที่มีโอกาสจะได้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในอนาคต
ติดตามทุกความเคลื่อนไหว ของ ‘สุขภาพคนไทย’
ได้ที่ https://www.thaihealthreport.com/th/index.php
Facebook : สุขภาพคนไทย
Instagram : thaihealthreport
TikTok : @thaihealthreport
เนื้อหาจาก : รายงานสุขภาพคนไทย เล่มปี 2565 (หมวดตัวชี้วัด 7) หน้าที่ 22 – 23
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม :