เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับกรณีที่ “วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137” สูญหายจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนของบริษัทแห่งหนึ่ง ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 304 อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 และต่อมา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมประเมินว่า วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ดังกล่าวนั้น “ถูกหลอมไปหมดแล้ว” หลังตรวจพบระดับรังสีซีเซียม-137 ในฝุ่นเหล็ก หรือ ฝุ่นแดง ซึ่งเป็นของเหลือใช้ จากกระบวนการหลอมโลหะของโรงงานในละแวกใกล้เคียง
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประชาชนจำนวนมาก มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางสุขภาพที่อาจจะตามมาในอนาคต เนื่องจากได้รับทราบข่าวสารที่ถูกแชร์และบอกต่อกันในโลกออนไลน์ และมีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อย ตั้งคำถามเกี่ยวกับ “มาตรการความปลอดภัย” ในการควบคุมวัสดุอันตรายของโรงงานดังกล่าว ว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้ และภาครัฐจะมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ถือเป็น “กัมมันตรังสีอันตราย” ที่นิยมใช้ในเครื่องมือวัดในอุตสาหกรรม เป็นไอโซโทปรังสี โลหะอ่อน สีขาวเงิน ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น หากเกิดการรั่วไหลจะกระจายตัว และอาจปนเปื้อนในดิน น้ำ อากาศ ซึ่งเป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ โดยอันตรายจากการสัมผัสกับคน จะเกิดอาการ เช่น ไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องถ่ายเหลว อ่อนเพลีย ขาดน้ำ ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสเป็นแผลไหม้ พุพอง ผมและขนหลุดร่วง และหากสัมผัสในปริมาณที่มาก อาจส่งผลต่อระบบเลือด กดไขกระดูก และอาการชักเกร็ง และอาจเสียชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม จากการแถลงข่าวโดยผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วยเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติและคณะ ในวันที่ 20 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา แถลงว่า ยังไม่อาจยืนยันว่าฝุ่นเหล็กที่ปนเปื้อนรังสีซีเซียม-137 ดังกล่าว มาจากวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหายอย่างไร้ร่องรอยจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน ด้านสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติระบุในการแถลงข่าวด้วยว่า ไม่พบการปนเปื้อนรังสีซีเซียม-137 ในสิ่งแวดล้อม (ดิน น้ำ อากาศ)
จากการตรวจบริเวณโดยรอบพื้นที่โรงงานหลอมโลหะ “ไม่พบผู้ป่วยที่สัมผัสรังสีซีเซียม-137” และ “ไม่พบฝุ่นเหล็กปนเปื้อนรังสีซีเซียม-137” ในฝุ่นเหล็กที่ถูกส่งไปรีไซเคิลที่จังหวัดอื่น ตามที่สื่อบางสำนักได้มีการรายงาน แต่พบว่ามีการนำฝุ่นเหล็กที่ปนเปื้อนรังสีซีเซียม-137 บางส่วนไปถมที่ดินบริเวณโรงหลอมโลหะ จึงได้ดำเนินการขุดดินปนเปื้อนเหล่านั้นใส่ถุงบรรจุ และนำไปวางรวมกันในพื้นที่เก็บฝุ่นผงเหล็กที่ปนเปื้อน พร้อมกับวางแนวเป็นเขตกักกันรังสีไว้โดยรอบแล้ว
ด้านองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานรณรงค์เพื่อความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม ได้แก่ มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และกรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นต่อ “เหตุการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี” ที่เกิดขึ้น โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญถึง การเรียกร้องให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต้องสรุปบทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และทบทวนช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมายควบคุมกำกับดูแลความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำรอยขึ้นอีก
สำหรับวิธีการป้องกันและการปฏิบัติตนเอง ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 หรือกล่องเหล็กต้องสงสัย หากเป็นประชาชนที่อยู่ในสถานีที่เกิดเหตุหรือบริเวณโดยรอบใกล้เคียง ให้ไปลงทะเบียนผู้สัมผัสสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ยังหน่วยงานที่กำหนด และรวบรวมสิ่งของหรือเสื้อผ้าที่คาดว่าอาจมีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบ ควรล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม ติดตามข้อมูลสถานการณ์การเกิดเหตุ และปฏิบัติตามประกาศอย่างเคร่งครัด หากมีอาการต้องสงสัยที่ได้กล่าวมาข้างต้น ให้รีบติดต่อที่หน่วยงานสาธารณสุข หรือโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที
ภาพต้นกำเนิดรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหาย
ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/society/2658460
ภาพ Source ของรังสีซีเซียม-137 ที่หล่นหายไป
ที่มา: https://www.tnnthailand.com/news/social/141271/
ที่มาข้อมูล