วันที่ 21 มีนาคมของทุกปีถูกกำหนดให้เป็นวันป่าไม้โลก (World Forest Day) เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ เป็นความจริงอย่างไร้ข้อโต้แย้งว่า ทรัพยากรป่าไม้นั้นมอบคุณประโยชน์นานับประการให้แก่พวกเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นตัวช่วยสำคัญในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักการการเกิดภาวะ “โลกรวน”
อย่างไรก็ตามพื้นที่ป่าไม้นั้นกลับมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ ทั่วโลกและประเทศไทยวางแผนจะจัดการสถานการณ์ป่าไม้อย่างไรนั้น สุขภาพคนไทยจะมาเล่าให้ทุกคนฟัง
โลกของเรา “รวน” ในระดับที่ทั่วโลกเห็นพ้องต้องกันว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะสภาพอากาศอยู่ในภาวะ “ฉุกเฉิน” ที่ต้องเร่งแก้ไขด้วยเป้าหมายที่ชัดเจนและเข้มข้นมากกว่าที่ผ่านมา
ในการประชุม Conference of the Parties ครั้งที่ 26 หรือ COP26 ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคมถึง 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เรียกร้องให้ทุกประเทศเสนอแผนปฏิบัติการระดับชาติที่ชัดเจนมากขึ้นให้ “เร็วขึ้น” ในพ.ศ. 2565 แทนที่จะเป็นในพ.ศ. 2568
สำหรับข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรป่าไม้โดยตรงนั้น การประชุมในครั้งนี้ได้สร้าง “แรงจูงใจ”ด้วยการเพิ่มงบประมาณในการผลักดันให้ประเทศบรรลุเป้าหมายร่วมกัน เพื่อลดการลงทุนในกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับการทำลายทรัพยากรป่าไม้
โดยประเทศที่ให้ความสำคัญและคำมั่นสัญญาในการฟื้นฟูป่าไม้และความเสื่อมโทรมของพื้นดินภายในพ.ศ. 2573 จะได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน เช่น การสนับสนุนจากภาครัฐ 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และเงินบริจาคจากสถาบันทางการเงินมากกว่า 30 แห่งซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 8.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
สหภาพยุโรปได้ดำเนินการปกป้องทรัพยากรป่าไม้อย่างขันแข็ง มีกฎหมายฉบับใหม่เพื่อควบคุมสินค้า 6 ประเภทที่มีความเสี่ยงสูงที่จะทำลายป่า ได้แก่ ถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม เนื้อวัว โกโก้ กาแฟ และไม้ เป็นต้น โดยกำหนดให้ประเทศผู้นำเข้าพิสูจน์ว่าสินค้าปลอดจากการทำลายป่า (Deforestation-free products) หรือไม่
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังออกนโยบายป่าไม้แห่งชาติเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ได้ 55% ภายในพ.ศ. 2580 ซึ่งมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความร่วมมือ แม้จะมีความพยายามทั้งในการรักษาและเพิ่มพื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่องและจริงจังมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังคงมีข่าวการบุกรุกและเผาป่าให้ได้ยินอย่างต่อเนื่อง
ประเทศไทยและทั่วโลกจะทำอย่างไรกับปัญหาทรัพยากรป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม สามารถติดตามได้ที่หนังสือสุขภาพคนไทย 2566 ที่จะออกเดือน เม.ย. 2566 โดยติดต่อขอรับหนังสือได้ที่ thaihealthipsr@gmail.com หรือติดตามเพื่อ Download ฉบับ E-Book ได้ที่ https://www.thaihealthreport.com/th/index.php