ปัจจุบัน สุขภาพจิตและโรคทางจิตเวชได้รับการใส่ใจและให้ความสำคัญมากขึ้น ถึงกระนั้น กลับมีคนไทยมากมายที่ “เข้าไม่ถึง” การดูแลและรักษาสุขภาพจิตเท่าที่ควร
หลายครั้งคงเคยได้ยินกันว่าสาเหตุมาจากบุคลากรไม่เพียงพอ บุคลากรด้านสุขภาพจิตและจิตเวชขาดแคลนจริงหรือ? ขาดแคลนขนาดไหน? สุขภาพคนไทยจะมาเล่าให้ทุกคนฟัง
จากข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 จากสถิติกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิตระบุว่า จำนวนบุคลากรด้านสุขภาพจิตและจิตเวชในประเทศไทย “จำกัดอย่างมาก” โดยมีจำนวนและอัตราส่วนต่อประชากรแสนคนดังนี้
จิตแพทย์รวม 845 คน ซึ่งมีอัตราส่วน 1.28 คนต่อประชากรแสนคน
นักจิตวิทยา(คลินิก) รวม 1,037 คน ซึ่งมีอัตราส่วน 1.57 คนต่อประชากรแสนคน
พยาบาลจิตเวชรวม 4,064 คน ซึ่งมีอัตราส่วน 6.14 คนต่อประชากรแสนคน
ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นอย่าง “ไร้ข้อโต้แย้ง” เลยว่า จำนวนบุคลากรด้านสุขภาพจิตและจิตเวชนั้น “ไม่เพียงพอ” ซึ่งส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพจิต
ในขณะที่สุขภาพจิตโดยรวมของคนในประเทศไทยนั้นกลับเสี่ยงขึ้นเรื่อยๆ
จากผลประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นในปี พ.ศ.2565 สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงทางสุขภาพจิตที่ค่อนข้างสูงของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยมีผลการประเมินจากผู้เข้าร่วมประเมินทั้งหมด 150,069 คนดังต่อไปนี้
35.1% มีความเสี่ยงทางสุขภาพจิตแต่ไม่มีภาวะซึมเศร้าหรือเสี่ยงฆ่าตัวตาย
16.4% มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย
9.5% มีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า
สถานการณ์สุขภาพจิตในประเทศไทยเป็นอย่างไร สามารถติดตามได้ที่หมวดตัวชี้วัดสุขภาพ หนังสือสุขภาพคนไทย 2566 ที่จะออกเดือน เม.ย. 2566 โดยติดต่อขอรับหนังสือได้ที่ thaihealthipsr@gmail.com หรือติดตามข่าวสารได้ที่ Facebook https://www.facebook.com/Thaihealthreport และ Instagram https://www.instagram.com/thaihealthreport/
สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าของเด็กและเยาวชน อ่านบทความสั้นได้ที่ https://www.thaihealthreport.com/th/articles_detail.php?id=154 หรือศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thaihealthreport.com/file_book/re-4-63.pdf
สำหรับผู้ที่สนใจสถิติ สามารถศึกษาสถิติสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนในวิกฤต COVID-19 ได้ที่ https://www.thaihealthreport.com/file_book/2022-policy-brief-youth-mental-health.pdf