บทความสั้น
แก้ที่ “แหล่งกำเนิด”…คำตอบสำหรับปัญหาฝุ่น PM2.5
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | กุมภาพันธ์ 2566

ค่าฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางอากาศยังคงเป็นอันตรายและปัญหาเรื้อรังอยู่ แม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาหลายปีแล้ว สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการแก้ไขที่ผ่านมานั้นอาจยังจัดการ “ไม่ถูกจุด” ถ้าเช่นนั้นเราควรจัดการปัญหานี้อย่างไร สุขภาพคนไทยจะมาเล่าให้ทุกคนฟังกัน!

ปัญหาฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่ซับซ้อน เพราะนอกจากจะเกิดจากหลายสาเหตุรวมกัน ทั้งไฟป่า การเผาพื้นที่การเกษตร เชื้อเพลิงจากโรงงาน รวมถึงควันจากยานพาหนะแล้ว ผู้ก่อให้เกิดมลพิษต้นทางยังไม่ได้จำกัดอยู่แค่บุคคล ภาคส่วน หรือประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจึงมีความท้าทายในหลายมิติที่ต้องอาศัยความร่วมมือจาก “ทุกฝ่าย” ในการแก้ปัญหา

การแก้ปัญหาฝุ่นละอองอย่างยั่งยืนนั้นควรเป็นการแก้ไข “เชิงรุก” ที่มุ่งไปจัดการ “แหล่งกำเนิด” ของฝุ่นและมลพิษ ซึ่งก็คือ พฤติกรรมการเผาในที่โล่งแจ้ง โดยอาศัยทุกฝ่ายเพื่อร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ก่อให้เกิดมลพิษตั้งแต่ต้นทาง เช่น

  1. ผลักดันให้เกิด “กฎหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act)”  และองค์กรที่ดูแล เพราะรัฐมีพันธกิจที่จะต้องคุ้มครองสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาดของบุคคลที่เป็นสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนพึงได้รับ
  2. เสริมศักยภาพ “ชุมชน” และพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมในการจัดการป่าชุมชน การแก้ไขในระดับพื้นที่นี้อาจมีมาตรการที่แตกต่างกันออกไปตามบริบทและความเหมาะสมของแต่ละชุมชน
  3. ร่วมมือกับ “เอกชน” ในการออกมาตรการเพื่อลดการเผา ไม่ว่าจะเป็นการเผาเพื่อเก็บผลผลิตหรือวัสดุทางการเกษตร เช่น พัฒนาเครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวผลผลิต และร่วมมือกับผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวล
  4. หารือกับ “ประเทศเพื่อนบ้าน” เพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาในกรอบอนุภูมิภาค/ภูมิภาคต่างๆ เช่น อาเซียน ACMECS โดยไทยอาจให้ความช่วยเหลือเรื่องเงินทุนและเทคโนโลยี และถ่ายทอดบทเรียนในการแก้ปัญหา
  5. ปลูกฝัง “ประชาชน” ทุกช่วงวัยให้มีบทบาทในการลดการก่อมลพิษและสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยสถานศึกษา ชุมชน และสื่อควรสอดแทรกเนื้อหาที่เป็นปัญหา และแนวทางการแก้ไขมลพิษทางอากาศเพื่อปลูกจิตสำนึกให้กับประชาชนทุกระดับ

สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “สาเหตุ” ของฝุ่น PM2.5 และมาตรการแก้ไขที่ผ่านมา สามารถอ่านบทความสั้นได้ที่  https://www.thaihealthreport.com/th/articles_detail.php?id=158

สำหรับผู้ที่ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาไฟป่าและหมอกควันทางภาคเหนือของไทย สามารถอ่านและ Download ได้ที่ https://www.thaihealthreport.com/file_book/10-2564-2.pdf

 


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333