บทความสั้น
ทะเลไทย-โควิด-19-ขยะพลาสติก
Home / บทความสั้น

เฉลิมพล แจ่มจันทร์ คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
ตัวชี้วัดสุขภาพ | พฤษภาคม 2564

ประเทศไทยมีจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายทะเลทั้งหมด 24 จังหวัด ในภาคกลางตอนล่างรวมกรุงเทพฯ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทรัพยากรชายฝั่งทะเลที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งทรัพยากรสัตว์น้ำหลากหลายชนิด ป่าชายเลน ปะการัง รวมถึงหาดทรายสวยงาม ล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ชายฝั่งทะเล ทั้งในภาคการผลิต ภาคการเกษตร ประมงชายฝั่ง รวมถึง ภาคการค้าและการบริการ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังเป็นเงื่อนไขสำคัญเชิงสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจัยทางสังคมที่กำหนด และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรในพื้นที่

"ขยะทะเล" เป็นความเสี่ยงและความเปราะบางทางสุขภาพ ด้านสภาพแวดล้อมที่เป็นปัญหาเร่งด่วนหนึ่งของพื้นที่ชายฝั่งทะเล จากแนวโน้มของปริมาณขยะที่มีเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด (เฉพาะส่วนที่สำรวจเก็บข้อมูลได้) โดยเฉพาะขยะพลาสติก ที่ย่อยสลายได้ยากและเป็นภัยกับการใช้ชีวิตของสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตในทะเลจำนวนมาก จากฐานข้อมูลขยะทะเล สำรวจโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่าในปี (ปีงบประมาณ 2562) ปริมาณขยะทะเลที่พบใน 24 จังหวัดติดชายทะเลมีจำนวนรวมมากถึง 1.57 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกลับปริมาณขยะทะเลที่สำรวจได้ในปี 2561 ซึ่งมีจำนวนประมาณ 3.5 แสนชิ้น จะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาเพียง 1 ปี ปริมาณขยะที่สำรวจได้นั้น เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 4 เท่า สิ่งที่น่าสนใจคือประเภทของขยะที่พบในทะเลที่ค่อนข้างหลากหลาย แต่ที่พบมากที่สุดยังเป็นในกลุ่มขยะพลาสติก โฟม แก้ว รวมถึงกระป๋องเครื่องดื่ม  ขยะทะเลที่พบมากที่สุดเป็นอันดับแรกในปี 2562 ได้แก่ ขวดเครื่องดื่มที่เป็นพลาสติก (2.5 แสนชิ้น) ตามมาด้วย ถุงพลาสติก (1.7 แสนชิ้น) เศษโฟม (1.6 แสนชิ้น) และขวดเครื่องดื่มที่เป็นแก้ว (1.1 แสนชิ้น) ตามลำดับ เมื่อไล่เรียงพิจารณาเป็นรายพื้นที่ จังหวัดที่สำรวจพบขยะทะเลปริมาณมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สมุทรปราการ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สงขลา และชุมพร ตามลำดับ ซึ่งเป็นจังหวัดที่เป็นเมืองศูนย์กลางภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรการประมง การค้าและบริการ ในภาคการท่องเที่ยวของประเทศ

ในช่วงปี 2563 ภายใต้สถานการณ์ที่ประเทศประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ข้อมูลจากบทความวิชาการหนึ่งในวารสารสิ่งแวดล้อม[1]   ได้แสดงข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่าปริมาณขยะพลาสติกในพื้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ปี 2563 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากปริมาณขยะพลาสติกในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 มากถึงกว่าร้อยล 60 โดยขยะที่เพิ่มขึ้นสูงนี้ โดยสัดส่วนที่มากกว่า ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติกที่ปนเปื้อนเศษอาหาร สอดคล้องกับข้อมูลจากเว็บไซต์สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย[2]  ที่แม้จะรายงานการลดลงของปริมาณขยะรวมในพื้นที่กรุงเทพฯ และหลายหัวเมือง รวมถึงเมืองใหญ่ชายทะเล เช่น ภูเก็ต หรือพัทยา ซึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากมาตรการการควบคุมการเดินทางท่องเที่ยว และการล็อกดาวน์เมือง และสถานประกอบการต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาเพื่อจัดการและควบคุมการแพร่กระจายของโรคที่ทำให้ปริมาณการใช้ทรัพยากรที่ก่อให้เกิดขยะนั้นลดลง อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเฉพาะปริมาณขยะพลาสติก รวมถึงสัดส่วนของขยะพลาสติกในปริมาณขยะทั้งหมด กลับพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงมากในช่วงโควิด-19 ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากธุรกิจการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ ที่ขยายตัวสูงมากโดยเฉพาะ กรุงเทพฯและในเขตเมืองใหญ่

การปรับตัวของประชากรในการใช้ชีวิตประจำวัน และการปรับตัวของภาคธุรกิจและสถานประกอบการในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้อยู่รอดที่นำไปสู่การขยายตัวของธุรกิจบริการเดลิเวอรี่รับ-ส่งอาหารและเครื่องดื่มอย่างรวดเร็ว ซึ่งนำไปสู่ปริมาณขยะพลาสติกที่สูงขึ้นและจะยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อไปตามวิถีชีวิตใหม่หรือ new normal ที่กลายมาเป็นวิถีชีวิตของคนเมืองในยุคระหว่างโควิด-19 หรือแม้แต่หลังโควิด-19 จะเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันในเรื่องการกำจัดที่ถูกต้อง การจัดการและการนำขยะพลาสติกเหล่านี้มาผ่านกระบวนการให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างเหมาะสม และดูแลไม่ให้ส่งผลกระทบทางลบต่อสภาพแวดล้อมของเราทั้งสภาพแวดล้อมบนบก ในแหล่งน้ำ รวมถึงสภาพแวดล้อมชายฝั่งและสิ่งมีชีวิต สัตว์น้ำและทรัพยากรทางทะเล

สุขภาพคนไทย 2564 นำเสนอ 10 หมวดตัวชี้วัดสุขภาพพื้นที่ หนึ่งในนั้น ได้แก่หมวดทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาขยะทะเลในพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลของไทย รวมถึง ปัญหาไฟไหม้ป่าในพื้นที่ป่าไม้ของประเทศโดยเฉพาะในภาคเหนือ ผู้อ่านที่สนใจสามารถติดตามรูปเล่มที่กำลังจะออกจากโรงพิมพ์ปลายเดือนพฤษภาคม และรายละเอียดเพิ่มได้ที่ www.thaihealthreport.com


[1] บุญชนิต ว่องประพิณกุล และ สุจิตรา วาสนาดำรงดี. (2564). “ขยะพลาสติกจากการสั่งอาหารออนไลน์” สถานการณ์ปัญหาและแนวทางแก้ไข (ตอนที่ 1). วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 25 (ฉบับที่ 1).
[2] วิจารย์ สิมาฉายา (2563). “ขยะพลาสติกพุ่งกว่า 60 % ในช่วงโควิด -19 (สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย: http://www.tei.or.th/th/blog_detail.php?blog_id=51 เข้าถึง 1 มิถุนายน 2564)

ภาพประกอบโดย  www.freepik.com


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333