อากาศที่อยู่ๆ ก็ “หนาว” ในรอบหลายปี ตามมาด้วย “พิษฝุ่น PM 2.5” ที่กลับมาอีกครั้ง ตามมาด้วย “ฝนนอกฤดูกาล” และความ “ร้อนอบอ้าว” ในช่วงเช้าหลังวันฝนตก ความแปรปรวนเหล่านี้ส่งสัญญาณให้พวกเราเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ถึงความ “รวน” ของสภาพอากาศ สภาพอากาศของประเทศไทยและโลกของเรารวนขนาดไหนนั้น วันนี้สุขภาพคนไทยจะมาเล่าให้ทุกๆ คนฟังกัน!
จากรายงาน Global Climate Risk Index (CRI) 2021 โดย German Watch พบว่า ไทยอยู่ใน“อันดับที่ 9” ของโลกที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ประเทศไทยมีน้ำท่วมและน้ำแล้งสลับกันมาตลอดซึ่งเป็นผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญ (El Niño) และลานิญา (La Niña)
ในขณะที่ “น้ำท่วม” ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งนึงในประวัติศาสตร์ไทยเมื่อปี 2554 เกิดจากผลกระทบของปรากฏการณ์ “ลานิญา” ที่ทำให้ฝนตกเร็วและมากกว่าปกติควบคู่กับพายุที่เข้ามามากกว่า 5 ลูกที่เข้ามาพร้อมๆ กัน หลังจากนั้นเพียง 2 ปี นั่นคือในปี 2556 ประเทศไทยเกิด “ภัยแล้งรุนแรง” ที่ก่อทำให้เกิดความเสียหายกว่า 3,000 ล้านบาทจากปรากฏการณ์ “เอลนิโญ” รวมถึงล่าสุด ในปี 2563 เป็นปีที่แล้งเป็นอันดับ 2 ในรอบ 40 ปีของประวัติศาสตร์ไทย ที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากถึง 10,000 ล้านบาท
ยิ่งไปกว่านั้น พื้นที่ป่าไม้ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกเพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลับมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ มีข่าวการบุกรุกป่าอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีนโยบายป่าไม้แห่งชาติเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้น้อยกว่า 40% ของประเทศ โดยพื้นที่ป่าในภาคเหนืออยู่ที่ 64.0% และภาคตะวันตก 59.2% ในขณะที่ภาคกลางมีเพียง 21.5% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือน้อยที่สุดที่ 15.0%
ความ “รวน” ของสภาพอากาศในประเทศไทยที่กล่าวไปข้างต้นนั้นเป็นเพียง “ส่วนหนึ่ง” ของความรวนระดับโลกเท่านั้น ความ “รวน” ของโลกของเรานั้นอยู่ในขั้นที่ว่า “ทุก” สิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะสัตว์ พืชหรือมนุษย์ล้วนได้รับผลกระทบอย่างมหาศาล เช่น
จากรายงานฉบับที่ 6 (Assessment Report 6: AR6) โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ซึ่งมีความยาวกว่า 3,675 หน้า ยืนยันอย่าง “ไร้ข้อโต้แย้ง” ว่า โลกกำลังเข้าใกล้จุดวิกฤตที่ทุกอย่าง “สายไป” แล้ว เราอาจไม่สามารถกู้สถานการณ์ให้กลับมาดีขึ้นได้ ทั้งๆ ที่มีความพยายามมากขึ้นเรื่อยๆ ในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการประชุมรัฐภาคีสมาชิก (Conference of Parties: COP) ที่มีการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 6-18 พฤศจิกายน 2565
ที่ผ่านมาโลกและประเทศไทยให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาสภาพอากาศอย่างไร หลังจากนี้ควรทำอย่างไรเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ สามารถติดตามได้ที่หนังสือสุขภาพคนไทย 2566 ที่จะออกเดือน เม.ย. 2566 โดยติดต่อขอรับหนังสือได้ที่ thaihealthipsr@gmail.com หรือติดตามเพื่อ Download ฉบับ E-Book ได้ที่ https://www.thaihealthreport.com/th/index.php