บทความสั้น
อนาคตของผู้สูงอายุไทย
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | มกราคม 2566

ใกล้ตรุษจีนกันแล้ว อาหมวยอาตี๋ทั้งหลายคงเริ่มเตรียมตัวเดินทางไปรวมญาติ shopping ชุดสีแดงสดใส หาซื้อซองอั่งเป่าลายสวยๆ เพื่อเตรียมรับและแจกโชคลาภ สอนลูกหลานท่อง  “ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ 新正如意, 新年发财” เอาไว้ รวมถึงจัดหาของขวัญไปไหว้อากงอาม่าญาติผู้ใหญ่ในตระกูล

ในงานนี้ โดยเฉพาะบนโต๊ะอาหาร ญาติผู้ใหญ่คงมีเรื่องเม้าท์มากมาย หลังไม่ได้เจอกันมานาน topic หนึ่งในนั้นน่าจะมีเรื่อง “สุขภาพ”เหมือนปีที่ผ่านๆมา เพราะญาติผู้ใหญ่ของพวกเราล้วนกังวลถึงความเป็นอยู่ในช่วงบั้นปลายชีวิต เพื่อไม่ให้ตก trend คุยกับญาติผู้ใหญ่รู้เรื่อง รายงานสุขภาพคนไทยจะมาเล่าถึงสถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทย และนโยบายระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันให้ฟังกัน!

ตั้งแต่ปี 2548 ประเทศไทยได้กลายเป็นสังคมสูงอายุแล้ว ในปี 2565 ประเทศไทยเข้าสู่ “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์”  (complete aged society)  แล้ว โดยมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปี กว่า 12.9 ล้านคน หรือ 20% จากประชากรทั้งหมด1  และมีการคาดประมาณว่าในอีกไม่เกิน 15 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” (super aged society) เมื่อสัดส่วนของประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีสูงถึง 28% ของประชากรทั้งหมด2

ประเทศไทยมีการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2525 โดยเริ่มต้นจากแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2525-2544) จากนั้นมีการจัดทำแผนพัฒนาผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564) ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติที่กำหนดทิศทางการพัฒนาและดำเนินงานผู้สูงอายุในภาพรวม3  ณ ขณะนี้ประเทศไทยใช้แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2545-2565) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2563

นอกเหนือจากนโยบายข้างต้น ประเทศไทยยังมีนโยบายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ได้แก่ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนปฏิรูปประเทศ และแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาและส่งเสริมผู้สูงอายุให้สามารถพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุ และสนับสนุนให้ผู้สูงอายุเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ เป็นต้น

ล่าสุด ในเดือนพฤษภาคม 2565 มีเรื่องน่ายินดีสำหรับผู้สูงอายุเกิดขึ้น คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ “ร่างพัฒนาประชากรเพื่อพัฒนาประเทศในระยะยาว ปี 2565-2580”  กรอบแนวทางการพัฒนาประชากรของแผนฯ นี้ โดยรวมวางโครงสร้างพัฒนาประชากรไทยในทุกช่วงวัยด้วยแนวคิด “เกิดดี อยู่ดี กินดี” ให้ความสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ การเกิดอย่างมีคุณภาพ การอยู่อย่างมีคุณภาพและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ การแก่และการตายอย่างมีคุณภาพ

ร่างแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว ปี 2565-2580 นั้น ให้ความสำคัญกับการ “สูงวัย” ของประชากรที่เชื่อมโยงไปสู่สังคมสูงวัย (ageing society) อย่างรอบด้าน ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

  1. การสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ และพัฒนาระบบที่เอื้อต่อการมีและเลี้ยงดูบุตร
  2. การพัฒนายกระดับผลิตภาพประชากร
  3. การยกระดับความมั่นคงทางการเงิน
  4. การสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อลดการตายก่อนวัยอันควร และมีระบบดูแลระยะยาวและช่วงท้ายของชีวิต
  5. การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพกับทุกกลุ่มวัย
  6. การบริหารจัดการด้านย้ายถิ่น

โดยแบ่งลำดับความสำคัญในการดำเนินการเป็น 2 ระยะคือ

  1. ระยะเร่งด่วน เน้นการจัดการกับปัญหาที่เป็นผลพวกจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19  มุ่งให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ เยียวยาครอบครัวที่เปราะบางและผู้ว่างงาน
  2. ระยะยาว มุ่งเน้นการสร้างครอบครัวคุณภาพ ที่จะช่วยพัฒนาประชากรรุ่นต่อไปให้มีคุณภาพ เสริมความแข็งแกร่งของระบบการดูแลคนรุ่นพ่อแม่เมื่อเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ และพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้คุณภาพสูงตลอดชีวิต เพื่อให้สามารถสร้างรายได้ที่มั่งคงและต่อเนื่อง ตามแนวคิด “ชุมชนน่าอยู่ สุขภาวะดี มีงานทำ”

ร่างแผนพัฒนาประชากรเพื่อพัฒนาประเทศระยะยาวจะส่งผลต่อผู้สูงอายุและประเทศไทยอย่างไร  สามารถติดตามได้ที่หนังสือสุขภาพคนไทย 2566 ที่จะออกเดือน เม.ย. 2566  โดยติดต่อขอรับหนังสือได้ที่  thaihealthipsr@gmail.com หรือติดตามเพื่อ Download ฉบับ E-Book ได้ที่ https://www.thaihealthreport.com/th/index.php


อ้างอิง

  1. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. (2565). Research Brief การเข้าถึงระบบบริการทางสังคมของประชากรในครัวเรือนก่อนวัยสูงอายุและผู้สูงอายุ ที่มีรูปแบบการอยู่อาศัยต่างกันเพื่อนำไปสู่แนวทางการสนับสนุนการบริการที่เหมาะสม
  2. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2562). การคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2583 (ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  3. มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย. (2560) สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2559. กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).

 

 

 

 


Related Topics :

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333