บทความสั้น
ภาวะซึมเศร้า…ไม่ใช่เเค่เรื่องของ “เด็ก” แต่เป็นเรื่องของ “เรา” ที่ร่วมกันป้องกันได้
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | มกราคม 2566

ในวันเด็กแห่งชาติของทุกปี มีกิจกรรมหลากหลายที่จัดขึ้นเพื่อให้เห็นความสำคัญของเด็ก แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ “สุขภาพจิต” ของเด็กและวัยรุ่นนั้นยังไม่ได้รับการให้ความสำคัญเท่าที่ควร แม้สถานการณ์ความเปราะบางทางสุขภาพจิตในประเทศไทยจะน่ากังวลขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลการประเมินสุขภาพจิตคนไทย 721,155 คน ในปี 2564 โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ยังพบว่า เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เสี่ยงฆ่าตัวตายและซึมเศร้ามากที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มอายุอื่นๆ

ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธุ์ หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต อาจารย์สาขาจิตวิทยาการปรึกษา จุฬาฯ อธิบายว่า มนุษย์มีอารมณ์เศร้าเกิดขึ้นได้ทั่วไป แต่อาการเศร้าของแต่ละคนไม่เหมือนกัน โดยขึ้นอยู่กับการรับมือและฟื้นฟูอาการเศร้าของแต่ละคน ในขณะที่บางคนสามารถกลับสู่อารมณ์ปกติได้เมื่อหายเศร้า แต่หลายคนกลับเศร้าหนักขึ้น จนกลายเป็นโรคซึมเศร้าในที่สุด

ภาวะซึมเศร้าเป็นปัญหาที่ควรได้รับการ “ใส่ใจ” เพราะการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นมีสาเหตุ “สำคัญ” มาจากภาวะซึมเศร้า แม้ว่าการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นไม่ได้มีสาเหตุจากภาวะซึมเศร้าเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้ามีแนวโน้มที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย การที่เห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ หรือมีความเปราะบางทางอารมณ์สูง รวมถึงมีความยากลำบากอย่างมากในการจัดการอารมณ์ของตนเอง อาจนำไปสู่การหาทางออกด้วยการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะเมื่อวัยรุ่นที่มีลักษณะข้างต้นเจอเหตุการณ์กระตุ้น เช่น การถูกกลั่นแกล้ง จะยิ่งมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น

โดยปัจจัยเสี่ยงหลักที่ส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าของเยาวชนไทยนั้น ได้แก่

  1. ความใกล้ชิดกับความสูญเสีย จากงานวิจัยเรื่อง ปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าในนักศึกษาพยาบาล โดยนฤมล สมรรคเสวี และโสภี แสงอ่อน พบว่า “นักศึกษาคณะพยาบาล” เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้ามากกว่านักศึกษาคณะอื่น เพราะต้องพบเจอกับการเจ็บปวดและการตายของผู้อื่นเป็นประจำ ดังนั้นกลุ่มเพื่อนและคนใกล้ชิดที่เผชิญกับความสูญเสียเป็นกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า
  2. เนื้อหาของข่าวสาร การนำเสนอข่าวฆ่าตัวตาย หรือการทำร้ายตัวเองซ้ำๆ ย้ำๆ อาจทำให้เกิด Copy Cat หรือพฤติกรรมเลียนแบบได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ “มีภาวะซึมเศร้าอยู่แล้ว” เมื่อเจอสิ่งกระตุ้น (trigger) ก็อาจแก้ปัญหาผิดวิธีด้วยการเลียนแบบเรื่องราวของผู้ที่เป็นข่าว
  3. ระบบการศึกษา การเรียนที่เน้นผลการเรียนและแข่งขันมากจนเกินไป ทำให้เด็กและเยาวชนเกิดปัญหาสุขภาพจิตที่มาจากการเรียน เด็กที่เรียนเก่งมาตลอด อาจ “รับไม่ได้” เมื่อสอบตก หรือเรียนไม่รู้เรื่องจนมีภาวะซึมเศร้า รวมถึงเด็กที่เรียนไม่เก่งผิดหวังมาตลอด ทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า จนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าในที่สุด
  4. วิถีชีวิต เด็กติดจอ หรือที่เรียกว่า “Screenager” ที่ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอ นอนดึกตื่นเช้าจนพักผ่อนน้อย ทำให้เด็กกลุ่มนี้เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า จากงานศึกษาทดลองของมหาวิทยาลัย Pittsburgh ด้วยการวัดคลื่นสมองของเด็กอายุ 5-15 ปี จำนวน 35 คน พบว่า เด็กที่พักผ่อนน้อยมีการรับรู้ความพึงพอใจน้อยลง

จากปัจจัยทาง “สังคม” ข้างต้นจะเห็นได้ว่า ภาวะซึมเศร้าเกิดจากเป็นปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ดังนั้นภาวะซึมเศร้าไม่ใช่แค่เรื่อง “ส่วนตัว” ของเด็กหรือเยาวชนเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกคน พวกเราควรมีส่วนร่วมในการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน เช่น

  1. พ่อแม่และคนในครอบครัวใช้เวลาอย่างมีคุณภาพในการดูแล พูดคุย และรับฟังลูกหลาน
  2. สร้างบรรยากาศในการเรียนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้สึกปลอดภัยและได้รับการยอมรับ
  3. ต่อต้านการกลั่นแกล้งในโรงเรียน ด้วยการสร้างทัศนคติที่ถูกต้องแก่นักเรียนและครู
  4. ฝึกเด็กเรียนเก่งให้ได้เจอ และมีความพร้อมที่จะจัดการกับความล้มเหลว
  5. ฝึกเด็กเรียนอ่อนให้มีความมั่นใจ และเห็นคุณค่าในตนเองด้วยการ Multiple Intelligences
  6. ผลิตสื่อที่สร้างสรรค์สังคม แทนการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายซ้ำๆ

จากที่กล่าวไปข้างต้นจะเห็นได้ว่า ภาวะซึมเศร้าเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ดังนั้นทุกคนในสังคม ทั้งเด็ก เยาวชน พ่อแม่ คนในครอบครัว เพื่อน ครู และสังคมในภาพรวม ไม่ควรมองว่า ภาวะซึมเศร้าเป็นเพียงแค่เรื่องของเด็กและวัยรุ่น ตัว “พวกเขา” เองเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของ “เรา” ที่ทุกคนควรมีส่วนร่วมในการ “ลด” ปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่ภาวะซึมเศร้า และ “เพิ่ม” ภูมิคุ้มกันภาวะซึมเศร้า เพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีแก่เด็กและวัยรุ่นในการดำเนินชีวิตต่อไป

Share บทความนี้ เพื่อให้เด็กๆ และวัยรุ่นได้รับการใส่ใจในสุขภาพจิตมากขึ้น พ่อแม่ผู้ปกครองให้เวลารับฟังลูกหลานมากขึ้น  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมนนโยบายดูแลสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น

สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าของเด็กและเยาวชน อ่านต่อได้ที่ https://www.thaihealthreport.com/file_book/re-4-63.pdf

สถิติเกี่ยวกับสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนในวิกฤต COVID-19 อ่านต่อได้ที่ https://www.thaihealthreport.com/file_book/2022-policy-brief-youth-mental-health.pdf

สถิติล่าสุดเกี่ยวกับสุขภาพจิต สามารถติดต่อเพื่อขอรับหนังสือสุขภาพคนไทย 2566 ที่จะออกเดือน เม.ย. 2566 ได้ที่  thaihealthipsr@gmail.com หรือติดตามและรอ Download ฉบับ E-Book ได้ที่ https://www.thaihealthreport.com/th/index.php

 

 


Related Topics :

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333