ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่เพิ่งผ่านไปสดๆร้อนๆ ณ ขณะที่ผู้ปกครองหลายคนเที่ยวกับลูกอย่าง “สนุกสนาน” กลับมีผู้ปกครองอีกหลายคน “สูญเสีย” ลูกรักไปด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นเรื่องที่น่าเศร้าจากสถิติของรายงานสถานะความปลอดภัยบนท้องถนนระดับโลกขององค์การอนามัยโลกในปี 2563 (Global Status Report on Road Safety 2015) ซึ่งพบว่า คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากเป็นอันดับที่ 1 ในอาเซียนและสูงเป็นอันดับที่สองของโลก
ยิ่งไปกว่านั้นจากรายงานการสำรวจสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ในปี 2557 พบว่า เด็กไทยอายุ 1 ปีขึ้นไปเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน “มากกว่า” การป่วย โดยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนถึง 5.9 ต่อเด็ก 100,000 คนจากบทความการบาดเจ็บและการได้รับสารพิษในเด็กปฐมวัย และแนวทางการพัฒนาความปลอดภัยอย่างยั่งยืนโดย รศ.นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
และจากรายงานกรณีศึกษาประเทศไทยในเรื่องเบาะนิรภัยเด็กในรถยนต์ในปี พ.ศ. 2558 แม้ว่าการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรสามารถป้องกันได้ แต่กลับมีผู้ปกครองเพียง 13.3% ที่ “เคยใช้”Car Seat หรือเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก และ 55% ที่ “เคยเห็น” Car Seat โดยสาเหตุที่ผู้ปกครองไม่ได้ใช้ Car Seat นั้นมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไปดังกราฟด้านล่าง
ทั้งๆที่การใช้ Car Seat นั้นมีประโยชน์ต่อเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปี การใช้ Car Seat ที่เหมาะสมและติดตั้งอย่างถูกต้องสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กได้อย่างน้อย 60%1 จากการทบทวนงานวิจัย systematic review จากสหรัฐอเมริกาพบว่า ในกรณีของเด็กอายุ 8-12 ปี การใช้ Car Seat ช่วยลดอาการบาดเจ็บได้ 19% เมื่อเทียบกันเด็กในวัยเดียวกันที่ใช้ Seat Belt ของผู้ใหญ่จากที่นั่งด้านหลังของยานพาหนะเพียงอย่างเดียว2
เด็ก “ไม่ใช่” ผู้ใหญ่ตัวเล็ก การใช้ Car Seat ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ “สำหรับเด็ก” จึงสามารถลดความเสี่ยงที่เด็กจะบาดเจ็บได้ เพราะ Car Seat “จำกัด” ร่างกายของเด็กไม่ให้เคลื่อนไหว เมื่อเกิดการชนหรือหยุดยานพาหนะกะทันหันด้วยการรองรับเด็กในท่านั่งหรือนอนหงาย ต่างจาก Seat Belt ทั่วไปที่มีขนาดใหญ่เกินไปสำหรับเด็ก เด็กอาจ “หลุด” ออกมาได้เมื่อเกิดแรงปะทะ ที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือเข็มขัดนิรภัยอาจ “รัด” ท้องหรือคอเด็กจนเสียชีวิตได้
ถึงแม้ว่า Car Seat จะไม่สามารถป้องกันการชน แต่ Car Seat สามารถลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาต่อเด็กได้ด้วยการยึดตัวเด็กให้อยู่ในเบาะไม่ให้พุ่งกระแทกอุปกรณ์ในรถ และกระจายแรงกระแทกจากการชน โดยการเลือก Car Seat นั้นควรคำนึงถึง “น้ำหนักตัว” ของเด็กแทนที่จะเป็นอายุของเด็ก เพราะสรีระของเด็กอาจแตกต่างกันแม้อายุเท่ากันก็ตาม ดังนั้นจึงควรเลือกให้เหมาะกับลูกหลานของคุณ
บทบาท“ผู้พิทักษ์” ของผู้ใหญ่อาจกลายเป็น “มัจจุราช” พรากชีวิตเด็กก็เป็นได้ ดังนั้น Car Seat จึงไม่ใช่ของไร้สาระหรือสินค้าฟุ่มเฟือย แต่เป็นสิ่ง “จำเป็น” เพื่อความปลอดภัยของเด็กทุกคน
Share บทความนี้ เพื่อให้เด็กบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนน้อยลง พ่อแม่ผู้ปกครองใช้ Car Seat กันมากขึ้น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการใช้ Car Seat
สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางจราจรของไทย อ่านต่อได้ที่สุขภาพคนไทย 2560
https://www.thaihealthreport.com/th/indicators.php?id=40&y=2560&bm=4
สถิติการบาดเจ็บของเด็ก ทั้งจากอุบัติเหตุจราจรและการจมน้ำ อ่านต่อได้ที่สุขภาพคนไทย 2561 https://www.thaihealthreport.com/th/indicators.php?id=27&y=2561&bm=3
สถิติล่าสุดเกี่ยวกับอุบัติเหตุ สามารถติดต่อเพื่อขอรับหนังสือสุขภาพคนไทย 2566 ที่จะออกเดือนเมษายน 2566 ได้ที่ thaihealthipsr@gmail.com หรือติดตามและ Download ฉบับ E-Book ได้ที่ https://www.thaihealthreport.com
อ้างอิง