ในเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบ “ร่างแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว ปี 2565-2580” โดยมีกรอบแนวทางการพัฒนาประชากรที่ให้ความสำคัญกับ 3 ด้าน ได้แก่ 1) การเกิดอย่างมีคุณภาพ 2) การอยู่อย่างมีคุณภาพและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ และ 3) การแก่และตายอย่างมีคุณภาพ โดยต้องมีวาระการพัฒนาบนฐานของกระบวนทัศน์ใหม่และคำนึงถึงอิทธิพลของเทคโนโลยี โซเชียลมีเดีย และเจเนอเรชั่นที่จะส่งผลให้การดำรงชีวิตของประชากรในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต
ทั้งนี้ “ร่างแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว ปี 2565-2580” ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
โดยแบ่งลำดับความสำคัญในการดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน เน้นการจัดการกับปัญหาที่เป็นผลพวงจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 มุ่งให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ เยียวยาครอบครัวที่เปราะบางและผู้ว่างงาน และระยะยาว มุ่งเน้นการสร้างครอบครัวคุณภาพ ซึ่งจะช่วยพัฒนาประชากรรุ่นถัดไปให้มีคุณภาพและการเสริมความแข็งแกร่งของระบบการดูแลคนรุ่นพ่อแม่เมื่อเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ รวมทั้งพัฒนาระบบการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีคุณภาพสูง เพื่อให้สามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคงต่อเนื่อง ตามแนวคิด “ชุมชนน่าอยู่ สุขภาวะดี มีงานทำ”
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าแผนดังกล่าวให้ความสำคัญกับเรื่อง “การสูงวัยของประชากร” ที่เชื่อมโยงไปสู่สังคมสูงอายุ (aged society) นอกจากนี้แล้ว มติคณะรัฐมนตรียังเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 – 2580) และให้หน่วยงานรับผิดชอบดำเนินงานด้านผู้สูงอายุนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป
ประเทศไทยได้เริ่มจัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติตั้งแต่ปี 2525 เป็นแผนระยะยาว 20 ปี ครอบคลุมตั้งแต่ปี 2525 – 2544 ต่อมาในปี 2545 ได้มีการจัดทำและประกาศใช้แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545 – 2564) ซึ่งแผนดังกล่าวได้มีการปรับปรุงและติดตามประเมินผลการดำเนินงานเป็นระยะ โดยปัจจุบันได้ใช้แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2545 – 2565) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2563 เป็นกรอบและแนวทางปฏิบัติงานด้านผู้สูงอายุของประเทศ และจะสิ้นสุดภายในปี พ.ศ. 2565
ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยมีกรอบทิศทางการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุที่มีความต่อเนื่องและสอดคล้องกับบริบทของสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุแห่งชาติ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 – 2580) จึงถูกจัดทำขึ้นเพื่อ “ใช้เป็นกรอบในการบูรณาการและการทำงานเชิงรุกเพื่อรองรับสังคมสูงวัยของประเทศไทยและนำไปสู่สัมฤทธิ์ผลในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรม”
ท่านสามารถติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจนี้เพิ่มเติมได้จาก รายงานสุขภาพคนไทย 2566