สาเหตุที่เรืออับปางเกิดจากพายุในทะเลอ่าวไทย ทำให้คลื่นลมทะเลสูง ส่งผลให้ระบบไฟฟ้าและเครื่องสูบน้ำล้มเหลวจนทำให้น้ำท่วมตัวเรือ ความล้มเหลวดังกล่าวเกิดจากน้ำทะเลเข้าสู่ท่อไอเสียในทะเลลึก ซึ่งนำไปสู่การลัดวงจรในระบบไฟฟ้าของเรือ ขณะที่เรืออับปางนั้น เรือหลวงสุโขทัยมีอายุ 36 ปี ใกล้ปลดระวางตามระเบียบและข้อกำหนดที่ระบุอายุการใช้งานของเรือไว้ที่ 40 ปี การอับปางของเรือรบหลวงสุโขทัย ทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินอันประเมินค่ามิได้ โดยขณะที่เรืออับปางมีกำลังพลบนเรือ 105 นาย ในขั้นแรก (ผ่านไป 36 ชั่วโมง) สามารถช่วยชีวิตได้เพียง 75 นาย และสูญหายจำนวน 30 นาย ทั้งนี้ เรือหลวงสุโขทัยเป็นเรือ 1 ใน 5 ลำ ที่มีศักยภาพสูงที่สุดของกองทัพเรือไทย เนื่องจากมีความสามารถในการรบทั้ง 3 มิติ คือ สามารถสู้ทางอากาศ บนผิวน้ำ และใต้น้ำ1
ในวันที่เกิดเหตุ เรือหลวงสุโขทัย ได้รับคำสั่งให้นำทหารเรือและเจ้าหน้าที่รวม 106 นาย2 เดินทางจากฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี มุ่งหน้าไปร่วมงานเทิดพระเกียรติ พล.ร.อ. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ หรือ “เสด็จเตี่ย” เนื่องในวันครบรอบ 142 ปี วันคล้ายวันประสูติ องค์พระบิดาของทหารเรือไทย ที่จัดขึ้น ณ ศาลเสด็จเตี่ย ต.หาดทรายรี อ.เมืองชุมพร
ในระหว่างการเดินทางได้เกิดคลื่นลมรุนแรง คลื่นสูงกว่า 3-4 เมตร ส่งผลให้เครื่องยนต์เรือหลวงสุโขทัยมีปัญหา 1 เครื่อง เหลือใช้งานได้ 1 เครื่องเท่านั้น ควบคุมเรือไม่ได้ และพบปัญหาการเอียงของเรือ 60-70 องศา กองทัพเรือระบุว่า เมื่อได้รับแจ้งเหตุดังกล่าว ได้สั่งการให้เรือรบและอากาศยานของกองทัพเรือ ประกอบด้วย เรือหลวงอ่างทอง เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือหลวงกระบุรี เฮลิคอปเตอร์จำนวน 2 ลำ พร้อมชุดป้องกันความเสียหายและกู้ภัยเรือ เร่งให้การช่วยเหลือ และประสานหน่วยงานภายนอกเข้าร่วมให้การช่วยเหลือ
เรือหลวงกระบุรีได้เดินทางไปถึงจุดเกิดเหตุและเร่งให้ความช่วยเหลือกำลังพลของเรือหลวงสุโขทัยเป็นอันดับแรก แต่ก็เป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะคลื่นลมยังรุนแรงในสภาพอากาศมืด นอกจากนี้ ได้มีการเปิดเผยว่ามีเสื้อชูชีพมีไม่เพียงพอต่อกำลังพลบนเรือทั้ง 105 นาย อีกด้วย
ช่วงเย็นของวันที่ 20 ธันวาคม 2565 พล.ร.อ. เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และ พล.ร.อ. ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ ได้เปิดแถลงข่าวความคืบหน้าเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอับปาง โดยมีใจความสำคัญดังนี้3
ณ ปัจจุบัน (5 มกราคม 2566)
เหตุการณ์ที่เรือหลวงสุโขทัยล่มในครั้งนี้ พบผู้เสียชีวิต 24 นาย ผู้สูญหาย 5 นาย (ณ วันที่ 5 มกราคม 2566) รวมทั้งการตั้งคำถามจากสังคมในหลากหลายประเด็น4 เช่น ความไม่พร้อมรับมือต่อสถานการณ์ฉุกเฉินของเรือและลูกเรือจาก “จำนวนเสื้อชูชีพไม่เพียงพอ” “ทักษะการเอาตัวรอด” และ “กำลังพลที่ว่ายน้ำไม่เป็น” นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการตัดสินใจของผู้บังคับบัญชา และการช่วยเหลือที่ล่าช้า ซึ่งหลายปัจจัยเหล่านี้มีส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อความสูญเสียดังกล่าว ซึ่งทุกฝ่ายควรมีการสอบสวนหาข้อเท็จจริงและถอดบทเรียน เพื่อปรับปรุงมาตรการรักษาความปลอดภัยและลดการสูญเสียในอนาคต
อ้างอิง