โรงเรียนเป็นสถานที่ที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อสุขภาพของเด็กวัยเรียน การศึกษาพบว่า บริบทของโรงเรียนที่สามารถส่งผลต่อสุขภาพของนักเรียนมี 6 ประเด็นหลัก ได้แก่ สภาพแวดล้อมทางกายภาพและโครงสร้าง นโยบายด้านสุขภาพ การดำเนินโครงการสุขภาพ ทรัพยากรสุขภาพ บรรยากาศในโรงเรียน และองค์ประกอบโรงเรียน1
ปัจจัยเหล่านี้ เป็นปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ นั่นคือ เป็นระบบสังคมและสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อความรู้ ทัศนคติ พฤติกรรม และผลลัพธ์สุขภาพของเด็กวัยเรียน เพราะการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเด็กนักเรียนแต่ละคนเท่านั้น แต่สภาพแวดล้อมต้องเอื้อให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีด้วย เช่น การมีเวลาและสถานที่ที่เหมาะสมในการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ หรือการมีสภาพแวดล้อมทางอาหารที่บริการหรือจัดจำหน่ายอาหารที่เหมาะสมทางโภชนาการสำหรับแต่ละช่วงวัย
ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ เป็นสาเหตุสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก เด็กนักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เข้าถึงทรัพยากรทางสุขภาพที่ดีกว่า ย่อมมีโอกาสที่จะมีสุขภาพกายและใจที่ดีกว่าเด็กนักเรียนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม การเข้าใจอิทธิพลของปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างรอบด้าน และการกำหนดนโยบายที่มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
สำหรับประเทศไทย พบความแตกต่างของสภาพแวดล้อมทางอาหารที่อาจส่งผลต่อพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และผลลัพธ์สุขภาพของนักเรียน โดยโรงเรียนขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ต่างมีประเด็นท้าทายในเรื่องการส่งเสริมการรับประทานอาหารที่แตกต่างกัน สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กและกลาง ยังพบปัญหาในการจัดการอาหารให้กับนักเรียน ราว 1 ใน 4 ยังขาดแคลนบุคลากรที่ผ่านการอบรมหลักสูตรตามโภชนาการพื้นฐาน เปรียบเทียบกับโรงเรียนขนาดใหญ่ราวร้อยละ 15 ที่ยังขาดแคลน
สัดส่วนโรงเรียนที่มีผู้รับผิดชอบจัดการอาหารกลางวันสำเร็จการศึกษา/ผ่านการอบรมหลักสูตรตามโภชนาการพื้นฐาน จำแนกตามขนาดโรงเรียน
ที่มา: รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการการสำรวจสภาพแวดล้อมทางด้านอาหารและการจัดการอาหารในโรงเรียนและรอบรั้วโรงเรียน ภาวะโภชนาการของเด็กวัยเรียนและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง แผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ
หมายเหตุ: รวม 1,144 โรงเรียน (ขนาดเล็ก 407 โรงเรียน ขนาดกลาง 639 โรงเรียน ขนาดใหญ่ 98 โรงเรียน)
S = โรงเรียนที่มีขนาดเล็ก (1-120 คน), M = โรงเรียนที่มีขนาดกลาง (121-300 คน), L = โรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ (>300 คน)
สำหรับโรงเรียนขนาดใหญ่ พบความท้าทายในด้านการจัดการสภาพแวดล้อมทางอาหารภายในและรอบโรงเรียน การควบคุมอาหารและเครื่องดื่มที่จำหน่ายอาจเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะรอบโรงเรียนที่มีรถเข็น แผงลอย และร้านค้าที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มจำนวนมาก ซึ่งอาจมีอาหารและเครื่องดื่มจำพวก ขนมขบเคี้ยว ของทอด ขนมหวาน และเครื่องดื่มรสหวาน โรงเรียนขนาดใหญ่ในประเทศไทยปัจจุบันราว 3 ใน 4 มีการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มรอบโรงเรียน เปรียบเทียบกับโรงเรียนขนาดเล็กที่มีราวครึ่งหนึ่งที่มีจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มรอบโรงเรียน
สัดส่วนโรงเรียนที่มีสถานที่ที่มีการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มให้แก่นักเรียนในและรอบโรงเรียน จำแนกตามขนาดโรงเรียน
ที่มา: รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการการสำรวจสภาพแวดล้อมทางด้านอาหารและการจัดการอาหารในโรงเรียนและรอบรั้วโรงเรียน ภาวะโภชนาการของเด็กวัยเรียนและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง แผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ
หมายเหตุ: รวม 1,144 โรงเรียน (ขนาดเล็ก 407 โรงเรียน ขนาดกลาง 639 โรงเรียน ขนาดใหญ่ 98 โรงเรียน)
S = โรงเรียนที่มีขนาดเล็ก (1-120 คน), M = โรงเรียนที่มีขนาดกลาง (121-300 คน), L = โรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ (>300 คน)
ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ จะสะท้อนให้เห็นสาเหตุความเหลื่อมล้ำพฤติกรรมสุขภาพและผลลัพธ์สุขภาพของประชากรอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ขอเชิญชวนทุกท่านติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์ตัวชี้วัดสุขภาพคนไทย ในหัวเรื่อง “ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ” ที่จะนำเสนอปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพและสุขภาพคนไทยในมิติต่างๆ ได้ในรายงานสุขภาพคนไทย กำหนดเผยแพร่ในเดือนมีนาคม 2566
อ้างอิง