ในทุกปี ตั้งแต่ 1999 องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ร่วมกับองค์กรพันธมิตร จะมีการเผยแพร่รายงานฉบับหนึ่ง ชื่อว่า "สถานะความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการในโลก" (The State of Food Security and Nutrition in the World) เพื่อรายงานและวิเคราะห์เชิงลึกสถานการณ์ รวมถึงข้อท้าทายประเด็นความมั่นคงทางอาหาร ทั้งในระดับประเทศหรือกลุ่มประเทศและระดับโลก ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งต้องการขจัดปัญหาความหิวโหยและทุพโภชนาการของประชากรโลกให้หมดไป
รายงานฉบับนี้ในปี 20221 แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์การเข้าไม่ถึงอาหาร (รวมถึง การเข้าถึงอาหารที่ไม่เพียงพอ ทั้งในด้านปริมาณ ความปลอดภัย และโภชนาการที่เหมาะสม) ของคนจำนวนมากในโลกโดยเฉพาะจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่พบว่าในปี 2021 ผู้คนกว่า 2.3 พันล้านคนทั่วโลก กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่มีความไม่มั่นคงทางอาหารระดับปานกลางถึงระดับรุนแรง ซึ่งในจำนวนนี้กลุ่มที่มีความไม่มั่นคงทางอาหารระดับรุนแรงมีมากถึงกว่า 900 ล้านคน คิดเป็นถึงร้อยละ 11.7 ของประชากรโลก
ที่มา ตาราง A1.2 (prevalence of severe food insecurity in the total population); FAO, IFAD, UNICEF, WFP and WHO. (2022)
สำหรับประเทศไทย สถานการณ์ในเรื่องนี้ค่อนข้างน่ากังวล เฉลี่ยในช่วงปี 2019-21 สัดส่วนประชากรที่มีความไม่มั่นคงทางอาหารระดับรุนแรงคาดการณ์ว่ามีมากถึง 7.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10.5 ของประชากรไทยทั้งหมด โดยจำนวนและสัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า เทียบกับสถานการณ์ในช่วง 5 ปีที่แล้ว (ช่วงปี 2014-16) ซึ่งมีจำนวนผู้ที่มีความไม่มั่นคงทางอาหารระดับรุนแรงอยู่ที่ 2.9 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 4.2 ของประชากร และเมื่อเทียบกับสถานการณ์โดยเฉลี่ยของประเทศต่างๆในโลก กล่าวได้ว่า "แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์" ความไม่มั่นคงทางอาหารของประชากรไทยในช่วง 5 ปีดังกล่าวนี้ ค่อนข้างรุนแรงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก (สัดส่วนประชากรที่มีความไม่มั่นคงทางอาหารระดับรุนแรงของโลก เฉลี่ยช่วงปี 2014-16 และ 2019-21 อยู่ที่ ร้อยละ 7.7 และ 10.7 ตามลำดับ หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3 ขณะที่ของไทยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 6)
ที่มา สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (2565)
การสำรวจระดับประเทศในไทย ปี 2564 ในกลุ่มตัวอย่างอายุ 13 ปีขึ้นไป ด้วยแบบประเมินระดับความไม่มั่นคงทางอาหาร หรือ (Food Insecurity Experience Scale: FIES) โดย สิรินทร์ยา พูลเกิด และคณะจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลภายใต้การสนับสนุนจาก สสส. พบว่า ประชากรที่มีความไม่มั่นคงทางอาหารระดับรุนแรง มีประมาณร้อยละ 3 (* สัดส่วนดังกล่าวนี้ต่ำกว่าตัวเลขจากรายงานของ FAO ปี 2022 ซึ่งน่าจะมาจากคำนิยาม ตัวชี้วัดและระเบียบวิธีการประเมินที่แตกต่างกัน) ที่น่าสนใจคือ กลุ่มประชากรที่มีความเปราะบางหรือมีความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงทางอาหารมากกว่ากลุ่มอื่น คือ กลุ่มเด็ก (อายุต่ำกว่า 15 ปี) ผู้หญิง รวมถึงผู้สูงอายุ ซึ่งในบริบทของประเทศไทยจำนวนมากเป็นกลุ่มประชากรพึ่งพิง (ทางเศรษฐกิจและการดูแล) ในครัวเรือน
ความ (ไม่) มั่นคงทางอาหารเป็นทั้ง "ผล" และ "สาเหตุ" ของปัญหาความแตกต่างเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีอยู่ในสังคมไทย และเป็นปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (Social Determinant of Health: SDH) สำคัญที่เป็นต้นตอของปัญหาสุขภาพและความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพของคนไทย โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรเปราะบาง “รายงานสุขภาพคนไทย 2566” ที่มีกำหนดเผยแพร่ในช่วงเดือนมี.ค. 2566 ได้จัดทำข้อมูลสถานการณ์ตัวชี้วัดสุขภาพคนไทย ภายใต้หัวเรื่อง "ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ" ซึ่งหนึ่งในนั้นมีหมวดตัวชี้วัดเรื่อง "อาหาร" ที่ผู้อ่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ในประเด็นพฤติกรรมการบริโภคและการเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มของคนไทย รวมถึง สถานการณ์ความ (ไม่) มั่นคงทางอาหาร...โปรดติดตาม
อ้างอิง