บทความสั้น
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ: รับรางวัล Dr LEE Jong-wook Memorial Prize for Public Health 2022
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | ตุลาคม 2565

องค์การอนามัยโลก (WHO) โดย นพ.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ได้มอบโล่รางวัลให้กับ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ซึ่งเป็นรางวัล Dr LEE Jong-wook Memorial Prize for Public Health 2022 ที่อาคารสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ (สสส.) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 รางวัล Dr LEE Jong-wook Memorial Prize for Public Health นับเป็นรางวัลดีเด่นด้านการสาธารณสุข เพื่อระลึกถึง นายแพทย์ ลี จง-วุค ซี่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับ บุคคล กลุ่มบุคคล สถาบัน กลุ่มสถาบัน หน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชนและหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้สร้างผลงานที่โดดเด่นให้กับวงการสาธารณสุข

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ท่านให้ความสำคัญกับการรณรงค์ ขับเคลื่อนเพื่อการไม่สูบบุหรี่และควบคุมยาสูบทั้งในประเทศและในระดับนานาชาติมากว่า 4 ทศวรรษ ผลงานของท่านได้รับการยอมรับในระดับโลก ดังคำประกาศขององค์การอนามัยโลก ดังนี้

“ศ.นพ.ประกิต เป็นกำลังสำคัญผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายเพื่อควบคุมการใช้ยาสูบของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Tobacco Control Alliance : SEATCA) ขึ้นในปี 2544 ซึ่งเป็นเครือข่ายที่สนับสนุนให้ประเทศในอาเซียนมีนโยบายควบคุมยาสูบ ทั้งนี้มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) ให้ทุนครั้งแรก เป็นจำนวนสิบล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้สำหรับ 4 ปี เป็นเงินสำหรับประเทศในอาเซียน ในการสร้างความสามารถ สร้างสมรรถนะในการควบคุมยาสูบ ซึ่งมีการกำหนดประเด็น เช่น เรื่องภาษีบุหรี่ เรื่องกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ กฎหมายห้ามโฆษณาบุหรี่ เป็นต้น แล้วนำตัวอย่างมาแบ่งปันกันว่าใครทำอะไรไปถึงไหนบ้าง? และใครต้องการความช่วยเหลืออะไร? นี่คือวิธีทำงานเบื้องต้นของ SEATCA รวมทั้งมีการจัดนักวิชาการไปช่วยแต่ละประเทศผลักดันนโยบาย และไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่ ศ.นพ.ประกิตและภาคีเครือข่ายได้ทำ โดยเฉพาะการเก็บภาษีบุหรี่ได้จำนวนมาก ส่งผลให้ มหาเศรษฐีโลก นักธุรกิจชาวอเมริกัน และหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ อย่าง ‘บิลล์ เกตส์’ สนใจอย่างยิ่งและกล่าวถึงอย่างชื่นชมในเวทีระดับโลก ว่าด้วยเรื่องที่ประเทศไทย ขึ้นภาษีบุหรี่แล้วได้เงินมาเยอะ จากนั้น ‘บิลล์ เกตส์’ ก็มาร่วมให้ทุน SEATCA โดยให้โจทย์ว่า ให้ไปช่วยประเทศในอาเซียนขึ้นภาษีบุหรี่ แล้วถ้าขึ้นได้ ให้ต่อยอดเป็นกองทุนแบบ สสส. (หมายเหตุ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, ชื่ออย่างเป็นทางการคือ พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ) รวมทั้งให้ SEATCA ช่วยให้ชาติอาเซียน มีภาพคำเตือนบนซองบุหรี่  ซึ่งศ.นพ.ประกิต และ SEATCA ทำได้สำเร็จ และปัจจุบัน ‘บิลล์ เกตส์’ ก็ยังให้ทุนอยู่จนถึงทุกวันนี้ และชาติอาเซียนทั้ง 10 ประเทศก็มีภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ทุกประเทศแล้วเช่นกัน”1

“ก่อนหน้านี้ยังไม่มีองค์กรที่ทำงานชัดเจน จากเดิมที่ คนไทยสูบบุหรี่กันจำนวนมาก โดยเฉพาะเพศชาย รวมถึงการเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด เป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมก่อตั้ง “มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่” หรือ ASH Thailand ในปี 2529 เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวด้านการควบคุมยาสูบ โดยเป็นแกนนำในการให้ความรู้ปลุกจิตสำนึกสาธารณะเกี่ยวกับอันตรายต่อสุขภาพจากการใช้ยาสูบ ผลักดันนโยบายสาธารณะ และสุดท้าย คือ การสร้างเครือข่าย”2

ประเทศไทย สามารถลดจำนวนผู้สูบลงจาก 30 ปีก่อนที่อัตราสูบบุหรี่อยู่ที่ 32% ปัจจุบันเหลือ 17.4% จากเดิมที่คนสูบ 13-14 มวนต่อวัน ปัจจุบันเหลือราว 10 มวลต่อวัน นับได้ว่าเป็นผลจากการขับเคลื่อนมาเป็นเวลาเกือบ 40 ปี แต่อย่างไรก็ตาม พบว่า ผู้ป่วยโรคปอดเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้น เพราะประชากรที่สูบบุหรี่มีอายุมากขึ้น คนป่วยเพิ่มจากเมื่อ 20 กว่าปีก่อน จาก 4.2 หมื่นราย เป็น 4.7 หมื่นราย และล่าสุด 5.2 หมื่นคน เพราะเวลาป่วยอายุจะอยู่ที่ราว 35 ปีขึ้นไป ขณะที่อายุ 40-45 ปีขึ้นไป พบโรคหัวใจ มะเร็งปอด ช่วงอายุ 50 กว่าปี พบถุงลมโป่งพอง และเส้นเลือดสมองราว 60 ปี

ปัจจุบัน ศ.นพ.ประกิต ก็ยังยืนหยัดทำงานรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ต่อไป แม้ว่าบริษัทยาสูบจะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ไปมากมายเพียงไร เพราะผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยจากบุหรี่ไม่ได้เกิดเฉพาะกับผู้ที่สูบเท่านั้น แม้แต่คนที่ได้รับเพียงควันบุหรี่แม้มิได้สูบด้วยตนเอง ก็เกิดผลกระทบมากมายต่อสุขภาพของคนเหล่านี้แล้ว การทำงานให้คนตระหนักต่อประเด็นดังกล่าว...จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย


อ้างอิง

  1. อุดมการณ์ที่หยัดยืนของ ‘ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ’ เจ้าของรางวัล Dr LEE Jong-wook Memorial Prize for Public Health จากองค์การอนามัยโลก. 2 กรกฎาคม 2565. ผู้จัดการออนไลน์, จาก https://mgronline.com/qol/detail/9650000062778
  2. เส้นทาง 36 ปี “ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ” เพื่ออนาคตไทยไร้ควันบุหรี่. 22 มิถุนายน 2565. กรุงเทพธุรกิจ. จาก https://www.bangkokbiznews.com/health/1011301

 


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333