การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ภายในครอบครัว สามาถสร้างความสุข ความอบอุ่นในครอบครัวได้ การสื่อสารแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ คือ 1) แบบเห็นพ้องต้องกัน (Consensual) เป็นการสื่อสารแบบเปิดโอกาสให้สมาชิกครอบครัวได้แสดงความคิดเห็นกล้าแสดงออก รู้จักรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น 2) แบบเปิดเสรีทางความคิด (Pluralistic) เป็นการสื่อสารที่ครอบครัวสนับสนุนให้สมาชิกในครอบครัว กล้าแสดงความคิดของตนเอง กล้าแสดงออก กล้าพูดคุย และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่สำคัญในครอบครัว 3) แบบปกป้อง (Protective) เป็นการสื่อสารของครอบครัวที่เข้มงวด โดยผู้มีอำนาจสูงสุดจะเป็นผู้กำหนดระเบียบให้ถือปฏิบัติ เด็กจะถูกสอนให้เคารพเชื่อฟังและทำตามคำสั่งของผู้ใหญ่ และ 4) แบบปล่อยปละละเลย (Laissez-Faire) เป็นการสื่อสารที่สมาชิกแต่ละคนสามารถทำอะไรได้ตามความต้องการ ไม่มีกรอบหรือแนวทางที่สมาชิกต้องเชื่อฟังในครอบครัวมีการสื่อสารกันน้อย1 การสื่อสารทั้ง 4 รูปแบบมีข้อดีข้อเสียต่างกันในแต่ละครอบครัวควรนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับครอบครัวตนเอง
สำหรับการสื่อสารภายในครอบครัวมีความสำคัญมาก จากการศึกษาศูนย์จัดการความรู้ความรุนแรงในครอบครัว2 พบว่าครอบครัวที่มีการพูดคุยปรึกษาหารือเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวมีความรุนแรงน้อยกว่าครอบครัวที่ไม่มีการพูดคุย
ที่มา: รายงานผลสำรวจระดับประเทศ: ความรุนแรงในครอบครัวไทยต่อผู้หญิงและบุคคล และ รายงานผลสำรวจระดับประเทศ 2564: ความรุนแรงในครอบครัวภายใต้สถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19.
ดังนั้นสมาชิกในครอบครัวควรแบ่งเวลาให้แก่กัน มีการสื่อสารกันให้มากขึ้น เปิดใจรับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน อย่าเป็นสังคมก้มหน้า จะพาให้ครอบครัวเกิดความอบอุ่นและมีความสุข เพื่อเป็นเกราะป้องกันปัจจัยเสี่ยงอื่นที่จะเข้ามา