ระบบสุขภาพทางไกล เป็นชื่อเรียกระบบที่นำเทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบต่างๆ มาใช้ในการบริการด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารระหว่างแพทย์ถึงแพทย์ การให้คำปรึกษาระหว่างแพทย์กับคนไข้ การที่พยาบาลในพื้นที่ห่างไกลปรึกษาแพทย์ การให้ความรู้เรื่องยาจากเภสัชกรสู่ประชาชน ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากระบบสุขภาพทางไกลที่ถูกนำไปพัฒนา ต่อยอด และแตกแขนงออกมาเป็นระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน ประเทศไทยเริ่มนำแนวคิดนี้มาใช้ตั้งแต่ปี 2536
โทรเวชกรรม (Telemedicine) เป็นส่วนหนึ่งที่แตกแขนงออกมาจากระบบสุขภาพทางไกล ซึ่งเป็นการให้บริการด้านสาธารณสุขกับประชาชน โดยบุคลากรทางการแพทย์ ผ่านทางเทคโนโลยีและการสื่อสารแบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ ที่คู่สนทนาสามารถมองเห็นหน้าและสนทนากันได้ทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการให้คำปรึกษา วินิจฉัย การรักษา เฝ้าระวัง ให้ข้อมูลสุขภาพ และการป้องกันโรค
ในประเทศไทยระยะเริ่มแรก ใช้โทรเวชกรรมสื่อสารการรักษาจากโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะไปยังโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ห่างไกล โดยใช้ Video conference เป็นช่องทางสื่อสาร ต่อมาเกิดโครงการแพทย์ทางไกลผ่านดาวเทียมเพื่อให้แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนปรึกษาทางไกลแบบสองทางไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ต่อจากนั้นในปี 2541 กระทรวงสาธารณสุขได้ติดตั้งอุปกรณ์ระบบการแพทย์ทางไกลผ่านดาวเทียม 20 แห่ง แต่การดำเนินการก็ไม่ได้ประสิทธิผลเท่าที่ควรและได้ยุติการดำเนินโครงการในปี 2546 หลังจากนั้นกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ดำเนินโครงการโทรเวชกรรมมาโดยตลอด
ประโยชน์ของโทรเวชกรรม คือ สามารถเพิ่มอัตราการเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ของผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้สูงอายุให้สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ เพื่อลดภาระกับคนอื่นที่สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบันที่ผู้สูงอายุอยู่เพียงลำพัง
ทั้งนี้ได้เริ่มมีหลายสถานพยาบาลนำโทรเวชกรรมมาปรับใช้ เพื่อลดโอกาสที่ผู้ป่วยต้องออกจากบ้าน และลดจำนวนคนภายในโรงพยาบาล โดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชน เช่น
การระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้มีการนำระบบสุขภาพทางไกลมาใช้มากขึ้น ซึ่งทำให้ระบบบริการต้องปรับตัว เพื่อทำให้คนไข้ไม่ต้องมาแออัด และเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซึ่งผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการให้บริการนี้โดยตรง ระบบนี้โรงพยาบาลอาจต้องไปเยี่ยมบ้านมากขึ้น ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็มีความจำเป็นที่ต้องดูระบบบริการใหม่ๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงโดยที่ไม่ต้องแออัดที่หน่วยบริการ ในบางพื้นที่ เช่น กรุงเทพมหานครมีบริการของเดิมที่มีอยู่แล้ว คือ การส่งยาทางไปรษณีย์ ระบบร้านยาคุณภาพใกล้บ้านใกล้ใจ การให้บริการของคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ลงไปเยี่ยมบ้าน หรือที่เรียกว่า Home Healthcare โดย สปสช. มีความพยายามสนับสนุนให้มีการจัดบริการลักษณะนี้ทั่วทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร
ช่วงการระบาดของโควิด-19 ได้มีบริการการส่งยาให้กับคนไข้ในรายที่ไม่ต้องพบแพทย์ หรือมีอาการเจ็บป่วยคงที่ โดยจะรับยาชนิดเดิม ขนาดเดิมมาอย่างต่อเนื่อง ตามที่แพทย์กำหนดไม่มีภาวะแทรกซ้อน เนื่องจากกลุ่มคนไข้กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งจะได้รับบริการส่งยาถึงที่บ้าน เพื่อลดการเสี่ยงสัมผัสเชื้อโรค โดยให้ อสม. เป็นผู้นำยาไปส่ง เรียกบริการนี้ว่า “การส่งยาเดลิเวอรี่” บ้าง “Grab drug” บ้าง
ในขณะเดียวกันจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น สปสช. จัดระบบการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มเติม เพื่อเสริมกำลังช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลและเป็นอีกทางเลือกในการรับบริการแก่ประชาชน โดยได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการระบบการแพทย์ทางไกลหรือ Telemedicine ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลด้วย นอกจากนี้ประเทศไทยได้เป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว การสาธารณสุขทางไกลน่าจะเป็นช่องทางหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการนำบริการสุขภาพเคลื่อนที่ไปหาผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุที่บ้าน ซึ่งเป็นการสนับสนุนแนวคิดเรื่องการสูงวัยในถิ่นที่อยู่ (Ageing in place)
ทั้งนี้แม้ว่าการนำระบบสุขภาพทางไกลจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับทั้งผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ แต่ก็จะต้องคำนึงถึงว่าอาจจะมีกลุ่มคนที่อาจจะเข้าไม่ถึงบริการทางสุขภาพได้ อันเนื่องมาจากการเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีดังกล่าว รวมทั้งการไม่มีอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ในช่วยการสื่อสารด้วย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข สปสช. โรงพยาบาลชุมชน หรือ รพ.สต. ต้องปิดช่องว่างดังกล่าวเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่จะเกิดขึ้นด้วย